ตม. แถลงผลงาน จับกุมคดีสำคัญในรอบสัปดาห์ พบยังมีคนไทยให้การช่วยเหลือ เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ข้ามจังหวัด ข้ามประเทศ อย่างต่อเนื่อง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ รองผบช.สตม. พล.ต.ต.ปิติ นิธินนทเศรษฐ์ ผบก.ตม.1 พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม. พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย รองผบก.สส.สตม. พ.ต.อ.ปรีชา กองแก้ว รองผบก.ตม.4 ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุมคดีสำคัญในรอบสัปดาห์

คดีแรกตำรวจ ตม. จ.หนองคาย จับกุมขบวนการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติเข้ามาในพื้นที่เสี่ยง ต.ค่ายบกหวาน อ.เมืองหนองคาย หลังคนขับรถพยายามกลับรถหลบหนี ระหว่างเจ้าหน้าที่เตรียมเข้าตรวจสอบ เบื้องต้นพบนายทองใบ และนายทา สองคนไทยเป็นคนขับรถตู้

 

พร้อมแรงงานชาวเวียดนาม รวม 12 คน ในจำนวนนี้พบว่าหลบหนีเข้าเมือง 2 คน และ 6 คน อยู่เกินกำหนดในราชอาณาจักร ทั้งนี้จากการสอบสวนชายไทยสองรายให้การรับสารภาพว่า มีนายหน้าชาวเวียดนามว่าจ้างให้นำรถตู้ไปรับแรงงานชาวเวียดนามในพื้นที่กรุงเทพฯ และจ.นนทบุรี

มาส่งที่จ.หนองคาย เพื่อลักลอบข้ามกลับไปยังสปป.ลาว ก่อนมาถูกจับกุม อย่างไรก็ตามภายหลังสามารถขยายผลไปจับกุมตัวการในการขนแรงงานชาวเวียดนามดังกล่าวได้คือนายใหม่ ว่าน อายุ 34 ปี ได้ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา “ให้ความช่วยเหลือซ่อนเร้นแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” และความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฐานเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่ตามข้อกำหนด ส่งผู้ต้องหาให้สภ.เมืองหนองคาย ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

คดีที่สอง ตำรวจ บก.สส.สตม. เข้าสกัดจับรถตู้คันหนึ่งหลังสืบทราบว่ามีการลักลอบนำแรงงานชาวเมียนมาข้ามจังหวัดโดยผิดกฎหมาย จับกุมได้บริเวณสามแยกนครปฐม ต.ลำพยา อ.เมืองนครปฐม จากการตรวจสอบพบนายชาญชัย คนไทยเป็นคนขับรถตู้

ส่วนในรถมีชาวเมียนมา 13 คน ตรวจสอบแล้วทั้งหมดมีหนังสือเดินทางเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย จากการสอบสวน นายชาญชัย รับว่า นายตัน เนียง วิน อายุ 33 ปี ชาวเมียนมา หนึ่งในผู้โดยสารที่มากับรถคันดังกล่าว เป็นผู้ว่าจ้างให้พาคนในรถทั้งหมด

โดยได้ว่าจ้างให้ขับรถจากจ.สระบุรี ไปส่งที่แยกเจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งสาเหตุที่ทำการขนย้ายแรงงานมาจากความต้องการตลาดแรงงานในจ.ราชบุรี มีมากกว่า

เบื้องต้นชุดจับกุมได้นำผู้ต้องหาทั้งหมดไปให้เจ้าหน้าที่สาธารณะเข้าตรวจสอบโรค ก่อนนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปดำเนินคดีตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.คนเข้าเมือง ต่อไป

พล.ต.ท.สมพงษ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีเข้าตรวจสอบและจับกุมแรงงานชาวโรฮีนจา 19 คน จากบ้านเช่าแห่งหนึ่ง บริเวณด้านหลังตลาดใหม่ดอนเมือง เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 64 ที่ผ่านมาว่า เมื่อคืนนี้ตำรวจได้ขยายผลจับกุมแรงงานชาวเมียนมาได้อีก 3 คน ได้ในซอยประชาอุทิศ 5 เขตดอนเมือง

ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่พบชาวโรฮีนจาไปประมาณ 200 เมตร พบว่าทั้งหมดเข้ามาทำงานในไทยโดยไม่มีใบอนุญาตและบางรายไม่มีหนังสือเดินทาง ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการคัดกรองตรวจสอบโรคและสอบสวน ว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับกรณีการจับกุมชาวโรฮีนจาทั้ง 19 คน หรือไม่

ส่วนความคืบหน้าในการติดตามจับกุมตัวผู้ที่ลักลอบพาชาวโรฮีนจามาพักไว้ที่บ้านหลังดังกล่าว ได้ประสานกับตำรวจสน.ดอนเมือง ออกหมายจับแล้วอย่างน้อย 2 ราย คือนางระมัย ไชยมา และนายซามิ ฮุสเซ็น หรือบาบู สองสามีภรรยา

ในความผิดฐานร่วมกันให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยฯ โดยขณะนี้ฝ่ายสืบสวนมีเบาะแสแล้วพอสมควร อยู่ระหว่างการขยายผลจับกุม ส่วนการขยายผลแหล่งที่มาของชาวโรฮีนจาทั้ง 19 คน พบว่ามีการทยอยลักลอบเดินทางเข้ามา 3 รอบ

รอบแรกเดินทางมาถึงที่บ้านย่านดอนเมือง 5 คน ออกเดินทางวันที่ 24 ธ.ค. 63 เวลา 06.00 น. เดินทางออกจาก อ.แม่สอด จ.ตาก โดยรถยนต์ วันที่ 25 ธ.ค. 63 เวลา 03.00 น. เดินทางมาถึงดอนเมือง

ส่วนกลุ่มที่สอง จำนวน 13 คน จากการสอบสวนทราบว่า เดินทางออกจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า มาที่เมืองย่างกุ้ง ทางเรือ จากย่างกุ้ง ใช้เส้นทางผ่านเมืองเมาะลำไย โดยรถ ค้าง 1 คืน แล้วจากเมาะลำไย มาที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยรถยนต์ผ่านช่องทางธรรมชาติ คืนวันที่ 31 ธ.ค. 63 นอนพัก 1 คืน จากนั้นเดินทางออกจาก อ.แม่สอด คืนวันที่ 1 ม.ค. 64 มาถึงกรุงเทพฯ เวลา 23.00 ของวันที่ 2 ม.ค. 64

ส่วนกลุ่มที่สามให้การเบื้องต้นว่า วันที่ 24 ธ.ค. 63 เข้ามาประเทศไทยทางช่องทางธรรมชาติ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จากนั้นขึ้นรถทัวร์โดยมีคนไทยซื้อตั๋วและนั่งรถมาด้วย มาลงที่สถานีขนส่งกรุงเทพฯ สายใต้ใหม่ จากนั้นมีการติดต่อกับหญิงไทยชื่อนางระมัย เดินทางมาถึงดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยนั่งรถแท็กซี่ และได้อาศัยอยู่ในบ้านพักดังกล่าว

ทั้งนี้ทางสตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่าง ๆ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ

ซึ่งขอยืนยันว่าทางสตม. รับผิดชอบเฉพาะด่านเข้าออกที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่สถานการณ์ตอนนี้ด่านปิด ซึ่งที่ผ่านมามีการบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ตามแนวชายแดน ทั้งนี้ขอความร่วมมือนายหน้าอย่าเห็นแก่ตัว ซึ่งในส่วนของกรณีสมุทรสาคร มีแรงงานถูกต้อง 2.8 แสน

สตม. ใช้ไบโอแมททริชตรวจสอบเก็บข้อมูล ขณะนี้มีการเก็บข้อมูลแรงงานกว่า 2,436 คน มีการโยกกำลังตำรวจตม. ที่ประจำสนามบินไปช่วยเสริมปฎิบัติ ปีที่แล้วมีผลการปฎิบัติจับได้ 6.8 หมื่นราย ที่หลบหนีเข้าเมือง ต้นปีนี้ก็จับได้ 57 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน