“โฆษกดีเอสไอ” เผยขบวนการอั้งยี่ฟอกเงินคดีฮั้ว สว. พบเครือข่ายกว่า 1,200 รายทั่วประเทศ เร่งสอบสวน ก่อนพิจารณาออกหมายเรียกกลุ่มแรก
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 13 พ.ค.2568 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีฮั้ว สว.67 ว่า สำหรับกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 ราย ไปร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ในคณะอนุกรรมการสืบสวน และไต่สวนกับทาง กกต. นั้น
ตนขอเรียนว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เห็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงไปปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ กกต. ในการส่งหนังสือเชิญให้ถ้อยคำ เป็นเรื่องของการปฏิบัติภายใต้ภารกิจของ กกต. ที่มีการขอให้ดีเอสไอไปเป็นคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน จึงต้องขอความร่วมมือมายังดีเอสไอ เพื่อร่วมปฏิบัติการส่งเอกสารด้วย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าวดีเอสไอรับผิดชอบเพียงที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ต่างจังหวัดจะเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. และตำรวจท้องที่ ทั้งนี้ ในส่วนของดีเอสไอที่ต้องมีการร่วมสอบสวนปากคำกับ กกต. ในกฎหมายการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.สว.61) หากดูตามเนื้อหา บุคคลที่ถูกเรียกหรือมีหนังสือให้เข้ามาชี้แจงข้อกล่าวหา จะต้องทำหนังสืออธิบายรายละเอียด ซึ่งต้องดูว่านอกจากหนังสือแล้ว เจ้าตัวจะประสงค์เข้าให้ถ้อยคำประกอบเพิ่มเติมหรือไม่ หากมี ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 รายที่ไปร่วมเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน จะต้องร่วมสอบสวนปากคำด้วย
ส่วนประเด็นที่ดีเอสไอทั้ง 3 รายซึ่งไปร่วมเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวนกับ กกต. ในความผิดตาม พ.ร.ป.สว.61 หากเป็นประเด็นข้อซักถามของดีเอสไอนั้น ก็จะเน้นในส่วนที่เป็นประโยชน์ในรูปคดีของดีเอสไอเอง เพราะทั้ง 3 รายที่ไปร่วมเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน ก็อยู่ในชุดคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 ความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ท่านจะเห็นข้อมูลอันเป็นประโยชน์ทางคดีในเรื่องของการฟอกเงินและอั้งยี่ น่าจะเอามาใช้ประโยชน์ในคดีได้ ส่วนประเด็นที่ดีเอสไอต้องการนำมาเข้าสำนวนคดีอั้งยี่ฟอกเงินด้วยนั้น ก็ต้องรอดูบันทึกการแจ้งข้อหาของ กกต. ว่ามีการระบุพฤติการณ์ใดบ้าง เนื่องจากเวลาชี้แจง เขาต้องชี้แจงข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ที่ กกต. แจ้งระบุไป
พ.ต.ต.วรณัน เปิดเผยอีกว่า สำหรับพฤติการณ์การสมคบกัน อั้งยี่ฟอกเงินนั้น “การอั้งยี่” คือ การกระทำของกลุ่มบุคคลที่มีการปกปิดวิธีการเพื่อกระทำการผิดกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งประเด็นนี้จึงไปเกี่ยวข้องกับภารกิจของ กกต. เพราะเป็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าบริสุทธิ์หรือเที่ยงธรรมหรือไม่ ซึ่งมีบทบัญญัติความผิดอยู่
อย่างไรก็ดี ส่วนนี้จะมาเกี่ยวข้องกับกฎหมายฟอกเงินด้วย เพราะมาตรา 3(10) ได้กำหนดไว้ว่าคดีมูลฐานอั้งยี่ คือ หนึ่งฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน เมื่อมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องจากการอั้งยี่ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเชื่อมโยงกัน ส่วนเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงิน ดีเอสไอจะดูเรื่องเส้นทางการเงิน การได้มาซึ่งทรัพย์สินต่าง ๆ การทำธุรกรรมทางการเงิน และนิติกรรม ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการกระทำความผิดอั้งยี่ หรือตั้งแต่การเลือก สว.ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ฉะนั้น หากมีการเข้าไปใช้เงินสนับสนุนความผิดมูลฐาน ก็จะถูกพิจารณาดำเนินคดีฟอกเงินไปด้วย องค์ประกอบจะอยู่ในกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 จนถึงมาตรา 9
พ.ต.ต.วรณัน เปิดเผยอีกว่า ตามรายงานการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอที่ตนได้รับข้อมูล ปัจจุบันพบว่ามีกลุ่มเป้าหมายเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องของเส้นทางการเงิน หรือเป็นบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัย ประมาณ 1,200 ราย โดยทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการ ซึ่งมาจากพยานหลักฐานเรื่องเส้นทางการเงินตามที่พนักงานสอบสวนมีเหตุอันควรสงสัย และมองว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องควรที่จะเข้ามาชี้แจง จึงเล็งเห็นว่าจะต้องมีการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงิน
ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มบุคคลที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ได้นำพยานหลักฐานมาชี้แจงว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่มองกับสิ่งที่เขามี มันไม่ใช่ มันไม่ตรงกันอย่างไรบ้าง เพื่อจะนำไปสู่การพิจารณาสั่งคดีตอนท้าย แต่ในตอนนี้ได้มีการสอบสวนปากคำไปแล้วประมาณ 70 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างทยอยดำเนินการต่อเนื่อง
เมื่อถามว่ามันมีรายงานกระแสข่าวว่าในช่วงสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ทางดีเอสไอจะมีการทยอยออกหมายเรียกผู้ต้องหากลุ่มแรกในคดีอั้งยี่ ฟอกเงิน ให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาชี้แจง และเมื่อปัจจุบันนี้ดีเอสไอมีจำนวนกลุ่มเป้าหมาย 1,200 ราย เป็นไปได้หรือไม่ว่าทั้งหมดจะมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ตนมองว่า 1,200 รายนี้เป็นเรื่องของการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งท้ายสุดอาจจะมีเพียงบางส่วนที่จะถูกพิจารณาว่ามีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน เนื่องจากต้องมาพิจารณาเป็นรายบุคคล และต้องดูเหตุอย่างอื่นประกอบ
อย่างไรก็ตาม การทำงานของดีเอสไอ และ กกต. จะมีลักษณะแตกต่างกัน เนื่องจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเน้นประเด็นในเรื่องของการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม หรือมีเหตุสงสัย จึงเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา และจะได้ส่งให้ศาลพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องของการตัดสิทธิ์ ขณะที่การทำงานของดีเอสไอจะเน้นประเด็นกระบวนการทางคดีอาญา ดังนั้น การที่จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลใด พนักงานสอบสวนจะต้องมีพยานหลักฐานตามสมควรก่อน
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคดีฮั้ว สว. ในมือของดีเอสไอ มี 2 ข้อกล่าวหา คือ 1.เป็นการกระทำอั้งยี่หรือไม่ และ 2.เส้นทางการเงินที่พบอยู่ภายใต้ความผิดอั้งยี่หรือไม่ จึงจะเป็นเรื่องกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องดูทั้ง 2 ประเด็น ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงาน ปปง. จะเป็นเรื่องมาตรการการดำเนินการทางทรัพย์สิน ซึ่งดีเอสไออาจจะประสานการปฎิบัติในเรื่องทางแพ่งกับ ปปง. แต่ในทางอาญา การพิสูจน์หาผู้รับโทษ ดีเอสไอจะเป็นผู้ดำเนินการ
เมื่อถามว่าหากสมาชิกวุฒิสภารายใดถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย พ.ร.ป.สว.61 มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะถูกพิจารณาข้อกล่าวหาในคดีอาญาอย่างอั้งยี่ ฟอกเงิน ที่ดีเอสไอรับผิดชอบด้วย พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ต้องดูตอนสอบสวน หากข้อเท็จจริงไปถึง ก็ต้องนำไปสู่กระบวนการต่อไป
ซึ่งในภาพใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามันมี 6 ขั้นตอน คือ 1.การถูกกล่าวหา 2.การรวบรวมพยานหลักฐานตามที่ถูกกล่าวหา และข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหาว่ารับฟังได้หรือไม่ 3.หากรับฟังได้ว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอก็จะนำไปสู่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 การกระทำอันเป็นความผิดและใครมีเหตุสมควรถูกแจ้งข้อกล่าวหา
4.เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วไม่มารับทราบข้อกล่าวหาหรือให้การชี้แจง ก็จะเป็นขั้นตอนของการออกหมายจับ เพื่อควบคุมตัว 5.เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้นำข้อเท็จจริงมาชี้แจงหักล้าง และ 6.รับฟังคำชี้แจง ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและสั่งคดีตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ภายในสิ้นเดือน พ.ค. จะเห็นรายชื่อผู้ต้องหากลุ่มแรกในฐานความผิดอั้งยี่ ฟอกเงินหรือไม่ คงต้องให้เวลาพนักงานสอบสวนดำเนินการก่อน
ส่วนกรณีที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงนามในหนังสือขอความร่วมมือ รับการสนับสนุนภารกิจการสอบสวนปากคำพยานในคดีฮั้ว สว. ส่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า รายละเอียดภายในเอกสารคือการอธิบายกฎหมายว่าดีเอสไอสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง
ซึ่งต้องเรียนว่า ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย หรือตำรวจ ล้วนมีหน่วยงานภายในท้องที่ทั่วประเทศ ดังนั้น ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายอาจจะไม่เหมือนกัน ดีเอสไอเมื่อมีหนังสือไปจึงเป็นการบอกถึงการทำงานของดีเอสไอเอง และบอกถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ จะได้ชัดเจนไม่ต้องไปตีความกัน ส่วนถ้าหากขอความร่วมมือไปแล้วไม่ได้รับความร่วมมือนั้น ตนมีความเชื่อมั่นว่าในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานของรัฐเหมือนกัน มองว่าเรื่องความร่วมมือไม่ใช่ปัญหา