ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประมูลซื้อที่ดินผืนใหญ่สุดในโซนอีอีซี ขนาด 4,600 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด ก.ม. 32 ล่าสุด ได้เปิดตัวบริษัทร่วมทุน 3 ยักษ์ธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มเจ้าสัวเจริญในนาม “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ไทย“ ร่วมกับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และกลุ่มเอเชียน อินดัสเตรียล เอตเตท ของตระกูลโสภณพนิช เปิดตัวนิคมอุตสาหกรรม อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า ในฐานะตัวแทนจาก 3 กลุ่มร่วมทุน ภายใต้บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ประกอบด้วย บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ร่วมกับ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และ บริษัทนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด ของนายชาลี โสภณพนิช เปิดตัวนิคมอุตสาหกรรม อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ซึ่งเป็นเทคอินดัสเตรียล ที่นับเป็นระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมครบวงจรรูปแบบใหม่ หรือ เทคอินดัสทรี้ บนพื้นที่กว่า 4,600 ไร่ บริเวณถนนบางนาตราด กม.32 จ.สมุทรปราการ บนทำเลที่เชื่อมต่อไปสู่ทางพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (มอเตอร์เวย์) ใกล้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ โดยถือเป็นการบุกเบิกระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีขั้นสูงและโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย

“นับเป็นทำเลทองของอุตสาหกรรมไทยใกล้กรุงเทพฯ เชื่อมต่อจากถนนบางนา-ตราด สู่ทางพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ หรือมอเตอร์เวย์ นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และท่าเรือแหลมฉบัง เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ”

ทางด้านน.ส.กมลกาญจน์ คงคาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด กล่าวว่า แผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ภายใต้งบลงทุน 20,000 ล้านบาท เบื้องต้นได้เปิดขายเฟสแรก 2,000 ไร่ ซึ่งล่าสุดมียอดขายแล้วกว่า 100 ไร่ เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จากประเทศเยอรมัน และมีผู้ให้ความสนใจอีกหลายรายทั้งจากจีน เอเชีย และ ยุโรป โดยเฉพาะจีน ไทยได้เปรียบจากนโยบายการกีดการค้าของทรัมป์ อย่างไรก็ดี ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินในปีนี้ 300-400 ไร่ ซึ่งปัจจุบันราคาที่ดินในตลาดขณะนี้ไร่ละ 12-14 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วยอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ ทั้งยังรายล้อมด้วยศูนย์การผลิตสินค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจ อีคอมเมิร์ส รวมถึงธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้ ภายในโครงการ นอกจากจะมีแคมปัสด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี พื้นที่โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมอารยะ แล้ว ยังมีโซนไลฟ์สไตล์และบริการต่างๆศูนย์กลางการให้บริการชุมชน ตลอดจนโครงการที่อยู่อาศัยในอนาคตด้วย

ขณะที่นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า โครงการนี้มาถูกที่ถูกเวลา ในช่วงที่กำลังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของโกลบอลซัพพลายเชน รวมทั้งจะมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งใหญ่ ของโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่มีความโดดเด่น และจะมีคลื่นลูกใหม่ของการลงทุนที่เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในปี 2567 บีโอไอมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 35% ซึ่งสูงสุด ในรอบ 10 ปี รวมกว่า 3,100 โครงการ มากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอ เป็นเครื่องที่ให้เห็นว่าเป็นโอกาสทองของไทย โดยการลงทุนที่เข้ามา มีทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน ไต้หวัน เกาหลีญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ ซึ่งทั้งหมดตอกย้ำว่า ไทยเป็นแหล่งการลงทุนที่โดดเด่น สามารถรองรับการลงทุนจากทุกขั้ว ทุกฝ่าย เพราะไทยมีความเป็นกลาง และมีความสัมพันธ์กับทุกประเทศ โครงการมาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อีเลคทรอนิคส์ขั้นสูง อุตสาหกรรมอีวี แบตเตอรี่ ดาค้าเซ็นเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส เป็นจุดเริ่มต้นฐานเศรษฐกิจใหม่

ทั้งนี้ ที่ดินผืนดังกล่าว เดิมเป็นของบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเตรียลพาร์ค จำกัด ในเครือบมจ.กฤษดามหานคร ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.เอคิว เอสเตท ซึ่งติดจำนองกับธนาคารกรุงไทย ก่อนจะกลายเป็นหนี้เสียถูกธนาคารกรุงไทยฟ้อง และกรมบังคับคดีขายทอดตลาดในที่สุด โดย 3 บริษัทร่วมทุนดังกล่าว (บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ในปัจจุบัน บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย) ชนะการประมูล จากกรมบังคับคดี ด้วยมูลค่า 8,914.07 ล้านบาท

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้น บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) 50% บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และ บริษัทนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด ถือหุ้นฝ่ายละ 25%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน