บีโอไอ หืดขึ้นคอ หลัง 9 เดือนได้แค่ 3.77 แสนล้าน ลุยแจกแพ็กเกจลงทุนมีผลทันที หวังดูดยอดคำขอรับการส่งเสริมโค้งสุดท้ายเข้าเป้า 7.2 แสนล.

บีโอไอ หืดขึ้นคอ – น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติอนุมัติมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมภายในปี 2562 มีผลบังคับใช้กับคำของที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2561 จนถึงสิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มั่นใจว่ายอดคำขอส่งเสริมการลงทุนปีนี้ทั้งปีจะสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 720,000 ล้านบาท

“ภาพรวมการลงทุนในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2561) มีโครงการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนรวม 1,125 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 377,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,021 โครงการ เงินลงทุน 373,908 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ และการเดินสายชักชวนการลงทุน (โรดโชว์) โดยเฉพาะการลงทุนจากนักลงทุนจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขลงทุน 9 เดือนที่ผ่านมามียอดคำขอส่งเสริม 2,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนมีคำขอส่งเสริม 1,100 ล้านบาท”

โดยโครงการที่ได้รับการส่งเสริมตามมาตรการพิเศษดังกล่าว มีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทในทุกประเภท ยกเว้นกิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอการ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศกิจการขนส่งทางเรือ ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหน่อยภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 3 ปี นอกเหนือจากได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีขึ้นไป ตามเกณฑ์สิทธิปกติแต่ไม่เกิน 8 ปี มีสถานประกอบการทุกจังหวัดยกเว้นกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกัน ยังได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการสนับสนุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 100% ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2561-31 ธ.ค. 2563

น.ส.ดวงใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริการลงทุนเศรษฐกิจฐานรากที่ปรับปรุงใหม่ เริ่มมีผลบังคับใช้กับคำขอที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2562 ถึงสิ้นปี 2563 โดยเน้นให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงกว่าเข้าไปสนับสนุนยกระดับขีดความสามารถท้องถิ่นชัดเจน เงินลงทุนขั้นต่ำแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หากสนับสนุนหลายรายในโครงการเดียวกันต้องไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท ครอบคลุมทุกประเภทกิจการ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับส่งเสริมแต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้หรือสิทธิประโยชน์สิ้นสุดลง จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในมูลค่าไม่เกิน 120% ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายจริงในการสนับสนุน เช่น ค่าก่อสร้าง ค่าฝึกอบรม เป็นเวลา 3 ปี

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 21,774.6 ล้านบาท ประกอบด้วยบริษัท โปรเจน โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก ประเภทมาตรฐานการปล่อยไอเสียระดับยูโร 5 เงินลงทุน 7,693 ล้านบาท ที่ตั้งโรงงานในบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา โดยจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ระบบปรับอากาศ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายใน มูลค่า 13,702 ล้านบาทต่อปี

บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม เงินลงทุน 11,481.6 ล้านบาท ที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นบอร์ จ.ระยาง ซึ่งต้องประกอบ ผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่จากในประเทศมูลค่า 19,461 ล้านบาทต่อปี

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุนกิจการเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เงินลงทุน 2,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง รองรับการต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมศูนย์กลางวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ และศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน เทคโนโลยีอวกาสและภูมิสารสนเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน