กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงข่าวลือการนำข้าวหอมพวงของเวียดนามมาผสมใน “ข้าวหอมมะลิไทย” ไม่เป็นความจริง เหตุข้าวหอมมะลิไทยที่จะส่งออก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ไม่ผ่านก็ส่งออกไม่ได้ แถมมีการสุ่มตรวจ DNA ตลอด

โต้หอมพวงเวียดนามผสมข้าวไทย – นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการลักลอบนำพันธุ์ข้าวหอม Jasmine 85 หรือข้าวหอมพวงของเวียดนาม เข้ามาปลูกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันให้ผลผลิตอยู่ในพื้นที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าอาจจะมีการนำมาปลอมปนในข้าวหอมมะลิไทยส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ว่า กรมฯ ขอยืนยันว่าข่าวลือดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะในการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจำหน่ายในต่างประเทศ มีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก หากข้าวหอมมะลิไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็ไม่สามารถส่งออกได้

ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นสินค้ามาตรฐาน มีขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพตามขั้นตอนคือ เมื่อผู้ส่งออกประสงค์จะส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จะต้องยื่นคำร้องต่อกรมฯ ขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย และต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า โดยการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยดังกล่าว จะมีพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ไปปฏิบัติราชการเพื่อกำกับการทำงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์) และนำตัวอย่างที่เซอร์เวย์เยอร์ เป็นผู้จัดทำขณะปฎิบัติงานเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และเมื่อผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานจึงออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ผู้ส่งออกใช้ประกอบพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต่อไป

ขณะเดียวกัน จะมีการติดตามกำกับดูแลและสุ่มตรวจสอบการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย โดยการสุ่มนำตัวอย่างข้าวที่เซอร์เวย์เยอร์นำส่งมายังสำนักงานมาตรฐานสินค้า และสุ่มซื้อข้าวที่วางจำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อนำมาตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) ข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่องด้วย

“ยืนยันว่าการนำข้าวชนิดอื่นมาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิไทย ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ เพราะหากมีการปลอมปนจริง ก็สามารถตรวจสอบได้ และไม่มีทางที่จะผ่านการตรวจสอบได้ ที่สำคัญ เมื่อลองตรวจสอบข้าวหอมพวงของเวียดนาม พบว่ามีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมไทยโดยสามารถตรวจสอบได้ชัดเจน เนื่องจากข้าวหอมพวงนั้นมีเมล็ดสั้นกว่าข้าวหอมมะลิไทย อีกทั้งเมื่อตรวจสอบด้วยวิธีการตรวจสอบเมล็ดข้าวสุกที่ต้มในน้ำเดือด หรือการประเมินหาอุณหภูมิแป้งสุก และวิธีการย้อมสีด้วยสารละลายไอโอดีน หรือตรวจหาข้าวนุ่ม จึงไม่สามารถนำมาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิไทย หรือแม้แต่ข้าวหอมไทยได้” นายอดุลย์ กล่าว

สำหรับมาตรฐานข้าวไทยในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ข้าวหอมมะลิไทย เป็นสินค้ามาตรฐานโดยมีการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพมาตรฐานตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 กำหนดให้ต้องมีข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือ กข15 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การรับรับรอง ต้องมี Purity ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92 โดยปริมาณ เพียงชั้นเดียว ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ข้าวหอมมะลิไทย” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “THAI HOM MALI RICE” และสามารถขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย (ตรารวงข้าว) ที่กรมการค้าต่างประเทศได้ประชาสัมพันธ์และจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าไว้ 48 ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการรับรองว่าผู้บริโภคจะได้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยที่มีคุณภาพชั้นเยี่ยมและจากประเทศไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากมีกระบวนการติดตาม กำกับดูแล และตรวจย้อนกลับ

2.กำหนดมาตรฐานข้าวหอมไทย เป็นมาตรฐานสมัครใจ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการส่งออกและเป็นมาตรฐานข้าวหอมเกรดรองจากมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย (Fighting Brand) สำหรับตอบสนองความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายในราคาที่เหมาะสม โดยมีข้าวหอมไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยปริมาณ มีอมิโลสไม่เกินร้อยละ 20 ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ข้าวหอมไทย” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “THAI JASMINE RICE หรือ THAI FRAGRANT RICE หรือ THAI AROMATIC RICE หรือชื่ออื่นที่มีความหมายเดียวกัน”

3.มาตรฐานสินค้าข้าว (ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวขาว และข้าวนึ่ง) เป็นมาตรฐานสมัครใจ ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิต การค้า และการส่งออกข้าวในปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน