‘ชาริตา’ คว้าเก้าอี้เอ็มดีไทยสมายล์ ประธานบอร์ด ฝากการบ้านเพิ่มชั่วโมงการใช้เครื่องลดต้นทุน เผยปี’62 ขาดทุน 2.6 พันล้าน

‘ชาริตา’คว้าเอ็มดีไทยสมายล์ – นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และประธานบอร์ด สายการบินไทยสมายล์ เปิดเผยว่า การบินไทยเห็นชอบผลการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (เอ็มดี) บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกเรียบร้อยแล้ว โดยนางชาริตา ลีลายุทธ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยสมายล์คนปัจจุบัน เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก จากผู้สมัครจำนวน 2 ราย ซึ่งขณะนี้ไทยสมายล์ได้เจรจาค่าตอบแทนและร่างสัญญากับนางชาริตาเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา เห็นชอบก่อนลงนาในสัญญาจ้างต่อไป

ทั้งนี้ ไทยสมายล์มีผลประกอบการขาดทุนมาก ทำให้มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาน้อย และยอมรับว่าที่ผ่านมาการบินไทยซึ่งเป็นบริษัทแม่ ไม่ได้กำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้ไทยสมายล์ แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป การบินไทยจะลงไปกำกับและทิศทางของไทยสมายล์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

“ช่วงที่ผ่านมา นางชาริตาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาการเอ็มดี ได้ดีอยู่แล้ว เมื่อมาดำรงตำแหน่งเอ็มดี ตัวจริงก็ต้องทำงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโครงสร้างของไทยสมายล์ไม่มีความซับซ้อน เพราะทำธุรกิจสายการบินเพียงอย่างเดียว หน้าที่หลักก็คือปฏิบัติงานให้ครบถ้วนตามนโยบายของการบินไทยโดยหลังจากรับ นางชาริตาจะต้องเสนอแผนงานให้การบินไทยพิจารณาด้วย”

นายสุเมธกล่าวว่า การบินไทยได้มอบนโยบายและกำหนดเป้าหมายให้ไทยสมายล์เพิ่มระยะเวลาการใช้งานของเครื่องบินจากเฉลี่ย 8 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวันในช่วงต้นปี 2561 เป็น 10 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะทำสำเร็จในช่วงปลายปีนี้ ด้วยการเพิ่มความถี่ในเส้นทางเดิมและเพิ่มเส้นทางใหม่ๆ ในตลาดจีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ลดลง แต่กำไรต่อหน่วย (Yield) ของไทยสมายล์ก็ดีขึ้นแล้ว

ส่วนกรณีที่ 3 รัฐมนตรีคมนาคมได้เชิญการบินไทยหารือ วันนี้ (19 ก.ค.) นั้น นายสุเมธกล่าวว่า ได้รายงานผลการดำเนินงานของการบินไทยและไทยสมายล์ให้รับทราบ คือ การจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) และปัญหาทั่วๆ โดยรัฐมนตรีได้สอบถามว่า การบินไทยจะใช้โมเดลเจแปนแอร์ไลน์ในการแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งก็ตอบไปว่า ปัญหาของเจแปนแอร์ไลน์แตกต่างจากการบินไทย เพราะขณะนั้นเจแปนแอร์ไลน์ล้มละลาย ถูกยึดตารางบินคืน และปลดพนักงานออก แต่ปัญหาของการบินไทยแตกต่างกัน จึงสามารถใช้โมเดลแบบไทยๆ แก้ไขปัญหาได้ สำหรับการจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำนั้นเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ต้องเล่าถึงที่มาที่ไป ความจำเป็นในการจัดหา ซึ่งรัฐมนตรีก็จะนัดตนเข้ามาหารืออีกครั้ง

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สายการบินไทยสมายล์ก่อตั้งในปี 2555 และมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปีงบประมาณ 2562 ไทยสมายล์มีรายได้รวม 11,063 ล้านบาท, รายจ่ายรวม 13,649 ล้านบาท, กำไรหลักก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) และผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 2,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 976 ล้านบาทจากปี 2560 ที่ขาดทุนสุทธิ 1,626 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน