สอน. จับตาภาษีความหวานบังคับใช้ 1 ต.ค. กระทบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล-ชี้กระแสรักสุขภาพลดการบริโภคน้ำตาลมาแรง ดันปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายเพิ่มสูงขึ้น

สอน. จับตาภาษีความหวาน – นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยถึงกรณีการขึ้นภาษีความหวาน ว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างติดตามภาวะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างใกล้ชิด หลังรัฐบาลประกาศปรับขึ้นภาษีความหวานที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2562 เนื่องจากมีความกังวลว่าอาจทำให้ภาคเอกชนหลายรายเปลี่ยนสูตรการผลิตสินค้าบริโภคมาใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทราย ส่งผลต่อความต้องการอ้อยที่นำมาผลิตน้ำตาลลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระยะข้างหน้า

“การขึ้นภาษีความหวานอาจเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สต๊อกน้ำตาลสูงขึ้น เพราะยังต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลเป็นอีกปัจจัยด้วย เพราะปัจจุบันกระแสรักสุขภาพลดการบริโภคน้ำตาลมาแรง เห็นได้จากการจำหน่ายน้ำตาลให้ผู้บริโภคทางอ้อม เช่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มและขนม ลดลง 1 หมื่นตัน อยู่ที่ 5.7 แสนตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 5.8 แสนตัน”นางวรวรรณ กล่าว

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2562) ไทยมีปริมาณบริโภคน้ำตาลทรายแล้ว 1.46 ล้านตัน จากคาดการณ์ความต้องการบริโภคปีนี้ทั้งปีประมาณ 2.6 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปี 2560 อยู่ที่ 2.6 ล้านตัน และปี 2561 อยู่ที่ 2.5 ล้านตัน ขณะที่ภาพรวมการบริโภคน้ำตาลในประเทศและการส่งออกมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างคงที่ประมาณ 5-6% ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้นเฉลี่ย 12-14% ส่วนการนำอ้อยและผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปต่อยอดในอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามนโยบายรัฐบาลนั้น ถือเป็นแนวทางที่ดี ทั้งยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งสอน. จะดำเนินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน