ส.อ.ท. เผยความเชื่อมั่นเดือนก.ค. ทรุดต่ำสุดในรอบ 7 เดือน หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเงินเข้าระบบถึงปลายปี ส.อ.ท. ชี้ยอดขายรถยนต์ในปท.หด หลังคุมปล่อยสินเชื่อเข้ม

ความเชื่อมั่นก.ค. ทรุด – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 93.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 94.5 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนของปีนี้ เนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวเป็นผลมาจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น

สุพันธุ์ มงคลสุธี

“มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้เงินส่งถึงมือประชาชนโดยตรง ซึ่งภาคเอกชนก็หวังว่าคนจะมีกำลังซื้อและนำเงินไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ใช่นำเงินไปใช้หนี้ ทำให้การอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาลเกิดการหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ โดยส.อ.ท.คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ประมาณ 0.5-0.6% และคาดว่าจะส่งผลต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นเวลา 3-4 เดือน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศปีนี้ทั้งปีจะโตได้ 3% ตามที่คาดไว้”นายสุพันธุ์ กล่าว

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 102.3 เพิ่มขึ้นจาก 101.3 ในเดือนมิ.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการคาดภาครัฐจะมีมาตรการเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศรวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2562 ประกอบกับจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี

นายสุพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ จากสภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมาตรการกีดกันการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ยังยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยชะลอตัว อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนก.ค.2562 ยังแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 30.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากค่าเฉลี่ยในเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 31.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพิ่มขึ้น จากความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังไม่เอื้อต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต้องการให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอดผลิตรถยนต์ในเดือนก.ค. 2562 ผลิตได้ 170,847 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.7% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 81,044 คัน ลดลง 1.1% เนื่องจากจากการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงินที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เช่นเดียวกับยอดส่งออกอยู่ที่ 82,151 คัน ลดลง 8.87% โดยการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดตะวันออกกลาง และตลาดยุโรป คิดเป็นมูลค่าส่งออกรถยนต์ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ รวม 60,389.30 ล้านบาท ลดลงถึง 21.47%

“ภาคเอกชนหวังว่าสหรัฐจะไม่เพิ่มมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มเติมจนทำให้สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ส่งผลกระทบขยายเป็นวงกว้างออกไปมากกว่านี้ ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในระยะข้างหน้า ส.อ.ท. จึงยังไม่มีการปรับประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ทั้งปี โดยคงเป้าหมายไว้ที่ 2.15 ล้านคันเหมือนเดิม เป็นเป้าผลิตเพื่อการส่งออก 1.1 ล้านคัน และเป้าผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1.05 ล้านคัน”

ทั้งนี้ ล่าสุดยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2562) อยู่ที่ 1,236,792 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.23% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 640,494 คัน ลดลง 4.19% การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 596,298 คัน เพิ่มขึ้น 4.4%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน