การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชงครม. เคาะโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ได้ฤกษ์จรดปากกาเซ็นร่วมทุนเมกะโปรเจ็กต์ บริษัทร่วมค้ากัลฟ์-พีทีที แทงค์

ชงครม.เคาะท่าเรือมาบตาพุด3 – น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. เตรียมเสนอให้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 ต.ค. 2562 พิจารณาเห็นชอบการดำเนินโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่าการลงทุน 47,900 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี พร้อมการลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่าง กนอ. และกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ (บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) ซึ่งได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ ประมาณ 200 ไร่

ทั้งนี้ แบ่งเป็นกนอ. ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะใช้ระยะในการพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568

โดยหลังจากนี้ กนอ. จะจัดพื้นที่ส่งมอบให้บริษัทเอกชนเข้าดำเนินการออกแบบรายละเอียดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทันที สามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านการลงทุนทั้งในและต่างชาติได้ พร้อมกันนี้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตามสัญญาร่วมลงทุนประกอบด้วยผู้แทนจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ กนอ. สกพอ. สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทเอกชนร่วมลงทุน

สำหรับการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งเป็นพื้นที่ถมทะเลหลังท่าเพื่อใช้งานประมาณ 550 ไร่ และพื้นที่บ่อเก็บกักตะกอนดินเลนระหว่างก่อสร้างประมาณ 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกันประมาณ 2,200 เมตร ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนถ่ายกลุ่มสินค้าของเหลว และกลุ่มสินค้าพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต

ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ กนอ. จะดำเนินการออกประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมกพอ. รับทราบความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกหลังศาลปกครองเห็นตามคณะกรรมการคัดเลือกไม่รับเอกสารข้อเสนอแผนธุรกิจและข้อเสนอผลตอบแทนทางการเงินของกลุ่มกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้ง โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการพิจารณาเอกสารทางเทคนิคให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 ต.ค. 2562 และเปิดซองการเงินเพื่อหาผู้เข้าเจรจาสัญญา คาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนต.ค. 2562

นอกจากนี้ ที่ประชุมกพอ. ยังรับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ที่กำหนดส่งมอบที่ดิน 72% ภายใน 1 ปีหลังลงนามสัญญาร่วมลงทุนวันที่ 15 ต.ค.นี้ เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการ และให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 กิโลเมตร ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดย้ายท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ ท่อประปา และกระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้เร่งรัดย้ายท่อน้ำมันของบริษัทเอกชน 44 กม. รวมถึงเร่งรัดพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ. … ให้การส่งมอบพื้นที่และดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามเป้าหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน