จับตาการส่งออกปี2563 โจทย์หินท้าทายรัฐ-เอกชน

รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ โดนปัจจัยลบมาอย่างต่อเนื่องทำให้ภาคการส่งออกของไทยติดลบอย่างหนักต่อเนื่องหลายเดือน

ตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ย. มีมูลค่า 19,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 7.4% ทำให้ 11 เดือนแรกปี 2562 เทียบช่วงเดียวกันปี 2561 ส่งออกมีมูลค่ารวม 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.8%ประเมินว่าตลอดทั้งปีจะติดลบไม่ต่ำกว่า 2-2.5%

ขณะเดียวกันในปี 2563 หลายฝ่ายมองว่าปัจจัยลบยังส่งผล ต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าเงินบาท ที่ในวันทำการสุดท้ายของป คือ 30 ธ.ค. 2562 ลดต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี 9 เดือน ก่อนขยับขึ้นมาปิดตลาดที่ราคา 30.03 บาท /ดอลลาร์สหรัฐ

ทำให้การส่งออกทุกกลุ่มสินค้าชะลอตัว และที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งถึง 8.47% การที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษด้านภาษี (จีเอสพี) จากสหรัฐ ปัญหาสงครามการค้า

รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว แนวโน้มการเรียกเก็บภาษีซึ่งเป็นต้นทุนผู้ประกอบการมีมากขึ้น กฎหมายและมาตรการภาครัฐที่กำหนดเพิ่มเติมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นการลดทอนความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกให้ถดถอยมากขึ้นเช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การยกเลิกใช้สารเคมีการเกษตร

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่าในปี 2563 การส่งออกจะไม่ขยายตัวหรือขยายตัวเพียง 0-1% บนสมมติฐาน ค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่พบปัจจัยบวก แม้ว่าฐานของปี 2562 จะต่ำมาก จากสาเหตุข้างต้น

ส่วนข้อเสนอแนะที่ สรท. ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริหารจัดการค่าเงินด้วยมาตรการที่เข้มแข็ง ไม่ให้บาท แข็งค่าไปมากกว่านี้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมสรรพากร ต้องสนับสนุนรูปแบบการชำระค่าใช้จ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแทนเงินบาทเพื่อลดความสูญเสีย จากการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าแลกเปลี่ยน เช่นการจ่ายค่าระหว่างขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

ภาครัฐเช่นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการพลิกฟื้นการส่งออก ในฐานะกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สรท.เห็นด้วยกับการที่ รมว.พาณิชย์ เดินสายโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศผู้นำเข้า เพื่อกระตุ้นการส่งออกของไทย และขอให้ทำต่อไป

หากการส่งออกไทยหดตัวหรือชะลอตัวก็จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นลูกโซ่ เช่น การผลิตลดลงก็จะทำให้การจ้างงานลดลง รายได้ต่อครัวเรือนก็จะลดลงไปด้วย ค่าใช้จ่าย และต้นทุนสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ลดลง ทำให้เม็ดเงินที่จะหมุนกลับมาสู่ระบบเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย ส่งผลต่อตัวเลขของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เป็นส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และ Brexit รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงมีทิศทางแข็งค่า ซึ่งส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก

ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จึงยังเผชิญความไม่แน่นอนทำให้ภาพการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปีหน้า ยังมีความท้าทายเป็นอย่างมากขณะที่ภาครัฐเองในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กรอ.พาณิชย์) เพื่อทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน ในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินภาพรวมตัวเลขการส่งออกในปี 2563 ว่า จะเป็นบวกได้ 1.5-2% หรืออาจมากกว่านี้ เพราะมองว่าในระยะที่ผ่านมา การส่งออกไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ สะท้อนพื้นฐานการส่งออกที่ดี และมีความยืดหยุ่น

สามารถปรับตัวและกระจายการส่งออกในสินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน ทั้งในตลาดเดิม และตลาดศักยภาพใหม่

ในปีนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ มีแผนจะพาผู้ประกอบการส่งออกร่วมเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศ อย่างน้อยใน 16 ประเทศ รวมทั้งเร่งเจรจาเปิด เสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ส่วนที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

นอกจากนี้ยังมอบนโยบายเอฟทีเอรูปแบบใหม่ ด้วยการหารือแบบรายมณฑลหรือรายรัฐในประเทศที่เหมาะสม ที่จะทำข้อตกลงพิเศษทางด้านการค้าและบริการระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการส่งออกให้สินค้าและบริการในเชิงลึกให้มากขึ้น เช่น อาจมีข้อตกลงพิเศษกับมณฑลบางมณฑลของจีน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำการค้าเสรีกับประเทศไทย หรือทำกับอินเดียบางรัฐที่มีความเหมาะสม

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เน้นการเร่งรัดการส่งออกสินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม ผักและผลไม้ รวมทั้งสินค้าบริการต่างๆ อาทิ สินค้าโอท็อป สินค้าเสื้อผ้า เครื่องประดับ วัสดุก่อสร้าง แอนิเมชันและดิจิตอลคอนเทนต์

ชู 4 กลยุทธ์หลัก คือ

1. รักษาและขยายตลาดเดิม อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อาเซียน และจีน

2. เพิ่มตลาดใหม่ อาทิ เอเชียใต้ (อินเดีย) ละตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง

3. ฟื้นฟูตลาดเก่า เช่น ตลาดข้าวในประเทศอิรัก โลจิสติกส์เพื่อการส่งออกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และการจัดตั้งแหล่ง Thai Mart เพื่อกระจายสินค้าและศูนย์ค้าส่ง – ปลีกสินค้าสำคัญของไทยในบาห์เรน

4. มุ่งเน้นการค้าชายแดนและข้ามแดนมากขึ้น พร้อมผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ อาทิ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)

สตาร์ตอัพ (Start Up) และ SMEs รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผ่าน กรอ.พาณิชย์ และทูตพาณิชย์ในประเทศต่างๆ

ส่วนกิจกรรมในต่างประเทศ กรมฯ พุ่งเป้าไปยังประเทศสำคัญ อาทิ ตลาดจีน เน้นการประชาสัมพันธ์ผลไม้ของไทย การขยายตลาดออนไลน์สินค้าเกษตร อาหาร เครื่องประดับ ของใช้ การขยายสินค้าฮาลาลในมณฑลชั้นในของจีน

พร้อมกันนี้ก็ยังเจาะตลาดหลักของไทยทั้งตลาดสหรัฐเน้นขยายฐานผู้นำเข้าและเจาะตลาดคนรุ่นใหม่

(Gen Z) ขยายฐานตลาดสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรไทย โดยใช้สื่อดิจิตอล รวมทั้งใช้ร้านอาหารไทยที่ได้ Thai Select เป็นประตูในการขายสินค้าอาหารไทย โดยในแต่ละตลาดจะมีการเน้นการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

เรียกได้ว่าปี 2563 นี้เป็นอีกปีที่ปัจจัยลบจากปีที่ผ่านๆ มายังตามมาหลอกหลอน เป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของทั้งภาครัฐและเอกชนให้ร่วมกันฝ่ามรสุมไปให้ได้

แม้ว่าหนทางที่จะทำให้การส่งออกของไทยกลับมาสดใสจะยากเย็นแค่ไหนก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน