ธปท. ห่วง 4 จุดเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย ผวา!หนี้ครัวเรือนทะยานไม่หยุด คนใช้จ่ายมือเติบทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล-บัตรเครดิต แนะหลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กลุ่มครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

ธปท. ห่วง 4 จุดเสี่ยงฉุดศก. – นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยประจำปี 2562 ว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีความมั่นคง ฐานะด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปได้ช่วยลดความเปราะบางในระบบการเงินได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานขึ้น โดยมี 4 จุดเปราะบางหรือมีการสะสมความเสี่ยง

ทั้งนี้ 4 จุดเปราะบางประกอบด้วย 1. สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่ยังน่ากังวล โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยกลับมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2561 เป็นการขยายตัวจากสินเชื่ออุปโภคและบริโภคทุกประเภท ซึ่งเป็นผลจากทั้งการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยที่สูงขึ้นและพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มากขึ้น รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ซึ่งมีแนวโน้มด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ

นายสักกะภพ กล่าวว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้ต่อเดือนสูง เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค (ผ่อนสั้น ดอกเบี้ยสูง) โดย 42% ของการผ่อนชำระหนี้ เป็นหนี้เพื่อการบริโภค เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต หากต้องเจอกับปัญหา ทำให้รายได้ลด ก็จะเพิ่มโอกาสผิดชำระหนี้สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเปราะบาง ครัวเรือนเกษตรกร และผู้ที่เกษียณอายุ

อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากและใช้เวลา ซื้อต้องแก้แบบองค์รวม รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น 1. เน้นนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของครัวเรือน สร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน 2. เน้นนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสม ให้คำนึงถึงความสามารถดำรงชีพของผู้กู้ และไม่กระตุ้นก่อหนี้เกินความจำเป็น 3. เน้นนโยบายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่เดิม และ 4. หลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กลุ่มครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

จุดเปราะบางที่ 2. พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนสูงขึ้น (search for yield) จนอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยนักลงทุนบุคคลอาจไม่ได้รับข้อมูลความเสี่ยงอย่างครบถ้วน

3. สหกรณ์ออมทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่องและมีความเชื่อมโยงกันเองผ่านการรับฝากและปล่อยกู้ระหว่างกัน ซึ่งอาจเป็นข้อต่อในการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ โดยเฉพาะจากสหกรณ์ออมทรัพย์กลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง

และ 4. การดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ จากมาตรการ Loan to Value Ratio (LTV)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน