เปิด‘ไทม์ไลน์’ส่งออกไทย2562

ติดลบ2.65%-หวั่นหลอนถึงปี63

รายงานพิเศษ

เปิด‘ไทม์ไลน์’ส่งออกไทย2562 ในที่สุดการส่งออกปี 2562 ก็ไม่สามารถทนแรงต้านของปัจจัยลบทั้งปีที่รุมเร้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขส่งออกปี 2562 ลดลง 2.65% มูลค่า 246,244 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยลบคือเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน สงครามทางการค้า ซึ่งกระทบต่อซัพพลายเชนการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญของไทยโดยเฉพาะรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

รวมถึงผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และยังมีแรงกดดันจากราคาน้ำมัน และทองคำที่มีความผันผวน

ปัจจัยลบดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบทำให้ตัวเลขส่งออกไม่สวยตั้งแต่เดือนแรกของปี 2562

เดือนม.ค.ส่งออกลดลง 5.7% มีมูลค่า 18,994 ล้านเหรียญสหรัฐแม้ว่าจะพลิกมาเป็นบวกในเดือนก.พ. ที่ 5.6% มูลค่า 21,553 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าจีนและสหรัฐ เริ่มจะหาข้อยุติร่วมกัน รวมทั้งผู้นำเข้ามีความมั่นใจนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร

แต่ในเดือนมี.ค.ก็กลับมาลดลงอีก ที่ 4.88% มูลค่า 21,440 ล้านเหรียญสหรัฐ จากแรงกดดันจากภาวะการค้าโลกและอุปสงค์ ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว จากประเด็น ข้อพิพาททางการค้าที่ยังยืดเยื้อ และจากการเมืองของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ราคาส่งออกยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ

จึงไม่น่าแปลกใจที่เดือนเม.ย. การส่งออกก็ลดลงต่อเนื่อง 2.57% มูลค่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเดือนพ.ค.ก็ลดลง 5.8% มูลค่า 21,000 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดือนมิ.ย.ลดลง 2.15% มูลค่า 21,409 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกชะลอตัว

สาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐ และจีน ประกอบกับความพยายามในการเจรจาแต่ละครั้งเพื่อให้ได้ข้อเสนอดีที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ประสบความสำเร็จ

ล่วงเข้าเดือนก.ค. ส่งออกไทยกลับมาเป็นบวก 4.28% มูลค่า 21,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนเดือนส.ค. กลับมาติดลบที่ 4.0% มูลค่า 21,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัวอย่างแรง

นอกจากนี้สินค้าเกษตรยังได้รับผล กระทบจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ สินค้าเกษตรมีอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก (ล้นตลาด) และเงินบาทแข็งค่าเดือนก.ย. ส่งออกมีมูลค่า 20,481.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.39%

เดือนต.ค. ติดลบ 4.5% มูลค่า 20,758 ล้านเหรียญสหรัฐ เกิดจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหดตัว เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป

ถึงตอนนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าทั้งปีการส่งออกจะติดลบไม่ถึง 2% เพราะยังมองว่าการส่งออกในช่วงสุดท้ายของปีจะขยายตัว เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลและผู้นำเข้าจะมีการนำเข้าสินค้าเพื่อการส่งออกในปี 2563

อย่างไรก็ดีการส่งออกในปี 2563 ประเมินว่าการส่งออกทั้งปียังคงเป็นบวก จากภาระสงครามการค้าดีขึ้น ราคาน้ำมันไม่มีความผันผวน

แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าเดือนพ.ย. การ ส่งออกของไทยหดตัวลง 7.4% มูลค่า 19,657 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวจากสงครามการค้าและปัจจัยอื่นๆ ทำให้การค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของหลายประเทศ ทั่วโลกหดตัวรวมทั้งประเทศไทยด้วย

ส่งท้ายตัวเลขการส่งออกเดือนธ.ค. ติดลบ 1.28% มีมูลค่า 19,154 ล้านเหรียญสหรัฐทำให้ตัวเลขส่งออกทั้งปี 2562 ลดลง 2.65%

พร้อมกันนี้หลายฝ่ายประเมินว่าในปี 2563 การส่งออกของไทยยังน่าเป็นห่วงว่าจะซึมต่อเนื่องจากปี 2562

พิมพ์ชนก วอนขอพร

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ การค้า (สนค.) กล่าวว่า เตรียมแผนผลักดันการส่งออกปี 2563 จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้ารวมกว่า 18 ประเทศ ได้แก่ ตลาดเดิม เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สหภาพยุโรป ตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ตุรกี ศรีลังกา บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ ตลาดฟื้นฟูเช่น ตะวันออกกลาง ตลาดอาเซียน และ CLMV

สำหรับประเทศใหญ่อย่างจีน และอินเดีย ต้องเจาะตลาดลึกเป็นรายมณฑลและรายรัฐมากขึ้น

ประเด็นที่สหรัฐจะระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) สินค้าไทย กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งหารือและทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาให้สหรัฐพิจารณาทบทวน

ตลอดจนร่วมกันประเมินผลกระทบและเตรียมมาตรการรองรับ โดยเฉพาะการหาตลาดใหม่ การใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า หรือ FTA ไทยมีอยู่ และเดินหน้าขยาย FTA กับคู่ค้าสำคัญ

“สินค้าที่มีแนวโน้มจะขยายตัวในปีนี้ ได้แก่ สินค้าเกษตร อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ ยาง รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น”

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ปีนี้ค่อนข้างกังวลในส่วนของสินค้าเกษตร เพราะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สนค.ประเมินว่าตัวเลขปี 2563 ส่งออกจะเป็นบวก จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าที่เริ่มผ่อนคลาย และเงินบาทที่อ่อนตัวลง

ส่วนภาคเอกชนเช่น น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่าในปี 2563 ปัจจัยเสี่ยงมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์

ประมาณการเงินบาทไทยหากอยู่ที่ 30.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การส่งออกไทยในปี 2563 จะโตตามกรอบที่ สรท.คาดไว้ 0-1% หากอยู่ที่ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การ ส่งออกจะติดลบ 2.8% และหากอยู่ที่ 28.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกไทยมีโอกาสติดลบถึง 5%

แต่หากเงินบาทอ่อนค่าที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะโตได้ 1.4% หากอยู่ที่ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ถึง 4%

“สรท.เสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า อาทิ สนับสนุนการปรับปรุงกฎหมายที่เอื้อต่อการโอนเงินให้มีความคล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการในประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และสินเชื่อความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ที่ธนาคารยังคิดค่าธรรมเนียมที่สูงมาก”

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวการส่งออกอาจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัดหรือมีความเป็นไปได้ที่จะติดลบ 2-0% จากปัจจัยกดดันที่ต่อเนื่องมา ในปี 2562

กลินท์ สารสิน

ทั้งผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความผันผวนของค่าเงิน ปัจจัยลบ จากความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออก กลางจากกรณีสหรัฐและอิหร่าน ที่หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจผลักดันให้ราคาน้ำมันยืนอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่องและภัยแล้งที่รุนแรงในประเทศ

ขณะที่ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าทิศทางการส่งออกไทยปี 2563 มีมูลค่า 244,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ในช่วง 240,472-247,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัว 0.9%

อัทธ์ พิศาลวานิช

ปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าในระดับสูงคือ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และสงครามการเงิน รวมถึงปัญหาค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งตัว พบว่าเงินบาทยังแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% มูลค่าส่งออกจะลดลง 0.11%

จากข้อมูลดังกล่าวในปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าปัจจัยลบก็ยังตามมาหลอนเศรษฐกิจและการส่งออกในไทยปีนี้ ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องจับมือร่วมกันฝ่าวิกฤตเพื่อผลักดันตัวเลขการส่งออกให้กลับมาเป็นบวก เพราะนั่นจะหมายถึงความอยู่รอดของผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมก็จะปรับตัวดีขึ้นเป็นเงา

เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกกว่า 70% นั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน