กระทรวงเกษตรฯ พร้อมตั้งปลัดเป็นประธานคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาเกษตรใน EEC ชี้คลัสเตอร์ ผลไม้-ประมง ควรเร่งดำเนินการใน 5 ปี ขณะทุเรียนเสี่ยงล้นตลาด ส่วนประมงความต้องการเพิ่มกว่า 49%

เกษตรฯดันอีอีซีพัฒนา – นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ จะตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นคณะทำงานและเลขานุการร่วม

เพื่อจัดทำแผนงานโครงการด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนา EEC และเป็นแผนงานที่สามารถรองรับต่อสถานการณ์หลังโควิด ในรูปแบบ New Normal รวมถึงจะมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ (Big Data) ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ National Agricultural Big data Center (NABC) ด้วย

ทั้งนี้ การใช้พื้นที่ EEC เป็นต้นแบบ เพื่อปรับการทำเกษตรในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย จะเป็นโอกาสในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ โดยจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วยการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) เพื่อกำหนดพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และตามความต้องการวัตถุดิบ ของภาคอุตสาหกรรม โดยต้องมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับความต้องการสำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการและการท่องเที่ยวอย่างสมดุล ซึ่งจะเป็น platform ตัวอย่างด้านการเกษตรของประเทศ ที่สามารถยกระดับให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง พร้อมทั้งเกิดประโยชน์กับภาคประชาชนในเขตพื้นที่ EECและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

แหลงข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า พัฒนาคลัสเตอร์ผลไม้ และประมง ควรเป็นกลุ่มแรกที่ควรขับเคลื่อนในช่วง 5 ปี นี้ เนื่องจากความต้องการในตลาดโลก การค้าผลไม้เมืองร้อนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในจีนและตลาดเกิดใหม่ อื่นๆ เช่น ประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผลการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองของประเทศเหล่านี้ โดยในช่วงปี 2010-2016 ไทยส่งออกไปจีนมากที่สุด รองลงมาคือ เวียดนาม เช่น ทุเรียนสด ลำไยสด มะม่วงสด

อย่างไรก็ตาม ในคลัสเตอร์ผลไม้นี้ ยังมีความเสี่ยงต่อทุเรียนล้นตลาด เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่า 2 แสนไร่ อาจจะทำให้เกิดทุเรียนล้นตลาด ประมาณ 3-4 แสนตันต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า

ดังนั้นการจัดการผลผลิตทุเรียนควร ขยายตลาดทั้ง ตลาด Mass และ ตลาด Niche ในประเทศที่เคยบริโภคแล้ว พัฒนา Packaging ให้รักษาผลไม้ได้นาน และขยายการส่งออกไปประเทศที่ไม่เคยนาเข้าผลสด เช่น ตะวันออกกลาง และ ยุโรป และ พัฒนาให้เป็น Bio -Components และ Bio -based Products โดยใช้เทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ

สำหรับคลัสเตอร์ประมง พบว่าการบริโภคและการค้าในสินค้าอาหารทะเลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยการจับสัตว์ทะเลในทะเลน้ำลึกมีข้อจากัดมากขึ้น ขณะที่การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพื่อเติมเต็มความต้องการในอาหารทะเลของโลกประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลเป็นหลัก โดยมีมูลค่าส่งออกกุ้งเพาะเลี้ยงมากกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีตลาดหลัก คือสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ส่งออกทูน่าอันดับ 1 ของโลกด้วย

การพัฒนาคลัสเตอร์ประมง ควรมุ่งเน้น การเพิ่มผลผลิตการประมงเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในเขตพื้นที่ EEC ที่เพิ่มขึ้น คาดว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 49.6% หรือ ความต้องการบริโภค เพิ่มขึ้น 67,163.57 ตันต่อปี พัฒนาผลผลิตการประมงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อมุ่งสร้างและเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผลผลิตประมงอัจฉริยะ สร้างศักยภาพการผลิตที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่าน การ “ลด” การใช้แรงงาน พลังงาน ความเสี่ยงการเกิดโรค และ ปัจจัยการผลิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน