สำรวจ‘นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี’ – จากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่จังหวัดอุดรธานี มีทำเลที่ตั้งอยู่ในโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งที่มีความพร้อมเชื่อมโยงเส้นทางทั้งในและนอกประเทศ

เป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ผ่านสปป.ลาว-จีนตอนใต้ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

มีเส้นทางถนนสาย R12, R9 และ R8 ไปสปป.ลาว-เวียดนามตอนเหนือ-จีนตอนใต้ อุดรธานียังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานแปรรูปยางพารา ฯลฯ

 

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงร่วมกับบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ดำเนินการพัฒนาและจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี” เป็นศูนย์กลางการขนส่ง และโลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมนำคณะสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้าโครงการ

นิคมฯ อุดรธานี ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี 14 กิโลเมตร (ก.ม.) อยู่ห่างจากถนนทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพประมาณ 2 ก.ม. ทิศใต้ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย มีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ทางรางและศูนย์โลจิสติกส์ในพื้นที่กว่า 400 ไร่

ห่างชายแดนจากด่านหนองคาย 53 กิโลเมตร โดยสามารถเชื่อมต่อเศรษฐกิจการค้า ขนส่งสินค้า และกระจายสินค้าผ่านไปทางกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ได้อย่างสะดวก

นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า นิคมฯ อุดรธานี เป็นนิคมฯ แห่งแรกและเป็นนิคมฯ สีเขียว แห่งเดียวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เป็นนิคมฯ ลำดับที่ 56 ของประเทศ และเป็นจังหวัดที่ 16 ที่มีนิคมอุตสาหกรรม

ตั้งอยู่ที่ ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 เฟส

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเฟส 1 ปี 2563-2565 การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานพื้นที่ 1,325 ไร่ มีความคืบหน้าแล้วกว่า 50% คาดใช้เงินลงทุนพัฒนาประมาณ 20,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นเฟส 1.1 ประมาณ 12,000 ล้านบาท

และลงทุนเฟส 1.2 อีก 8,000 ล้านบาท

สำรวจ‘นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี’

มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2564 รองรับการลงทุนโรงงาน 80-100 โรงงาน

เบื้องต้นแบ่งพื้นที่ในเฟสแรกประมาณ 100 ไร่ มาพัฒนาเป็นพื้นที่ ‘ไมโคร แฟคทอรี่’ รองรับผู้ประกอบการที่มีความสนใจเช่าหรือซื้อโกดังสำเร็จรูปขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อขยายฐานการผลิตหรือเป็นแหล่งกระจายสินค้าส่งออกไปในภูมิภาคใกล้เคียง ให้เวลาก่อสร้างประมาณ 6-8 เดือน

ขณะนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไต้หวันและสิงคโปร์จำนวนมาก คาดจะสามารถรองรับได้ประมาณ 30 โรงงาน ส่วนเฟส 2 ปี 2565-2568

 

สำรวจ‘นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี’

“หลังเปิดให้บริการ 100% แล้ว เชื่อว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และคาดสามารถสร้างรายได้ภาษีอากรเข้ารัฐได้ถึงประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาทต่อปี”

นายพิสิษฏ์กล่าวและว่า เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย และอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิตในพื้นที่

มีนักลงทุนจากจีน 70% และญี่ปุ่น 30%

สำรวจ‘นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี’

นอกจากนี้มีแผนพัฒนาพื้นที่กว่า 600 ไร่ ่ติดกับเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นศูนย์โลจิสติกส์ พาร์ก (Logistics Park) ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะเป็นเส้นทางผ่านของรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงจากจีน

ระยะที่ 1 ปี 2563-2565 ทำเป็นอาคารคลังสินค้าให้เช่า การบริการรับฝากวาง/จ่ายและซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ ให้บริการเปิดตู้และบรรจุตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านแดน โดยจะเสนอขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรและพร้อมให้ใช้บริการ การให้บริการสถานีรถบรรทุกขนส่งสินค้า และการให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางรางเชื่อมกับสถานีหนองตะไก้

ระยะที่ 2 ปี 2565-2568 พัฒนาระบบรางภายในนิคมอุตสาหกรรมเชื่อมต่อระบบขนส่งทางรางที่สถานีหนองตะไก้ และเป็นผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ระหว่างนิคมฯ อุดรธานี กับประเทศสปป.ลาว กัมพูชา และจีนมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันศึกษาความเหมาะสมของโครงการท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดอุดรธานี การพัฒนาระบบเดินรถไฟจากสถานีหนองตะไก้เข้ามายังพื้นที่โครงการ 1.8 กิโลเมตร รวมทั้งการขอสิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ให้เทียบเท่ากับผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี เพื่อจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น

“มั่นใจระบบคมนาคมที่สมบูรณ์แบบมีประสิทธิภาพของนิคมฯ อุดรธานี มีความแม่นยำและลดเวลาการขนส่งได้ถึง 30% แต่ต้นทุนถูกกว่า 2 เท่า สามารถเชื่อมไปยังท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และภายในปี 2568 จังหวัดอุดรธานีจะมีเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่ทรงประสิทธิภาพ ทั้งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง สำหรับรองรับการขนส่งสินค้า และผู้โดยสารและรถไฟทางคู่จะจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน” นายพิสิษฏ์กล่าว

ด้าน นายกองเอก สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ระบุว่า นอกเหนือจากปัจจุบัน ผู้ประกอบการในนิคมฯ อุดรธานี จะได้รับสิทธิประโยชน์จาก กนอ. และสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในกรณีที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามประเภทกิจการและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ระหว่างผู้ประกอบการในนิคมฯ อุดรธานี กับผู้ประกอบการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน และผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี จะเห็นว่าผู้ประกอบการในนิคมฯ อุดรธานีได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่า

“อีอีซีมีจุดเด่นเรื่องท่าเรือน้ำลึก สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน และห่างจากกรุงเทพฯ ไม่มาก มีโรงงานหนาแน่นจนต้องถมทะเล แต่อุดรธานีแม้จะมีจุดเด่นมากมาย แต่ก็สู้อีอีซีไม่ได้ และไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล” นายกองเอกกล่าว

สำรวจ‘นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี’

 

หากนิคมฯ อุดรธานี เกิดขึ้นได้และลงทุนโครงการ 100% แล้วคาดว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานีได้ทันทีกว่า 200,000 ล้านบาท จาก 120,000 ล้านบาท

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเอ็นอีอีซี (NeEC)

ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและกระจายผลประโยชน์ไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้มีช่องทางการประกอบอาชีพในถิ่นเกิดโดยไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น ลดความเหลื่อมล้ำ

ที่สำคัญยังส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร โดยการพัฒนาสินค้าเกษตรต่อยอดเป็นเกษตรสะอาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร

ภาคเอกชนจึงขอเสนอแนวทางส่งเสริมนิคมฯ อุดรธานี 2 แนวทาง ได้แก่ 1.การขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนหนองคายให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนของบีโอไอ

2.ขับเคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือเอ็นอีอีซี ให้เป็นรูปธรรม จากที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายนี้แล้ว แต่ระยะหลังเรื่องเงียบไป ทำให้นักลงทุนต่างชาติลังเลที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุน

“นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี” เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ช่วยยกระดับความเจริญ และภาพรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ โดย พรพิมล แย้มประชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน