พาณิชย์ยิ้มออกส่งออกปีหน้าคาดบวก 4% จากปัจจัยมีวัคซีนต้านโควิด สินค้าที่เกี่ยวกับ WFH การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนปีนี้ติดลบไม่เกิน 7%

พาณิชย์มีหวังส่งออกบวก – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการส่งออกของไทยในเดือนพ.ย. 2563 ว่า การค้าระหว่างประเทศของไทย ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี แม้ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคู่ค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกในเดือนนี้ปรับตัวดีขึ้นหลายรายการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2.4% จากปีก่อน แต่ก็เป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อน และยังมีสินค้าที่ขยายตัวดี เช่น ยางพารา ขยายตัว 32.5% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐ อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 23.6% เป็นการขยายตัว 15 เดือนต่อเนื่อง โดย 11 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 4.0%

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมแม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 2.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน และหดตัว 7 เดือนต่อเนื่องแต่ก็มีสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัว 10.3% ในรอบ 9 เดือนโดยขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสหรัฐ รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 13.3% ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง ในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย โดย 11 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 6.6%

รวมทั้งข่าวดีเรื่องความคืบหน้าในการผลิตและกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิต และการบริโภค โดยการส่งออกไทยมีภาวะการหดตัวน้อยลง ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม

ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกไทยเดือนพ.ย. 2563 มีมูลค่า 18,932.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.65% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าเดือนนี้น่าจะส่งออกมีมูลค่าเพียง 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 211,385.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.92% ส่วนการนำเข้าช่วงเดือนพ.ย. ติดลบ 0.99% คิดเป็นมูลค่า 18,880.07 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าในช่วง 11 เดือนแรกของปีติดลบ 13.74% คิดเป็นมูลค่า 187,872.73 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยยังเกินดุลการค้า 11 เดือนเพิ่มขึ้น 52.59% หรือคิดเป็นมูลค่า 23,512.96 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยางที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการส่งออกไปตลาดสำคัญปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้แนวโน้มการฟื้นตัวจะชะลอลงบ้างจากการกลับมาแพร่ระบาดของของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ โดยตลาดหลัก ขยายตัว 5.9% คือตลาดสหรัฐ ขยายตัวสูงต่อเนื่อง 15.4% ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัว 9.0% และญี่ปุ่นกลับมาขยายตัว 5.4% ในรอบ 7 เดือน ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว 8.4% ส่วนตลาดทวีปออสเตรเลีย ก็ขยายตัว 23.7% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว 9.1% ส่วนการค้าชายแดนของไทย โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ยังได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา

“แม้ว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก็ยังเจอปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยมองว่าการส่งออกในเดือนธ.ค.นี้ มีมูลค่าเกิน 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โอกาสที่การส่งออกของปี 2563 จะติดลบไม่เกิน 7% เท่านั้น มูลค่า 229,030 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจากปัญหาโควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ทั่วโลกรวมถึงไทยจะทำให้ส่งผลภาคการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 อาจจะไม่ดีนักเพราะจะทำให้การค้าไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการค้าชายแดนที่ยังมีปัญหาอยู่มากต่อการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านของไทย แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวได้ดีหลังจากมีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้าได้ ซึ่งจะส่งผลให้การค้าของโลกกลับมาดีขึ้น การมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 เศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น สินค้าที่ของไทยที่เกี่ยวข้องการทำงานจากบ้านและเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 ของไทยได้รับความนิยม ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น จะเป็นปัจจัยทำให้การส่งออกของไทยกลับมาเป็นบวก 4% ได้ หรือมูลค่า 238,477 ล้านเหรียญสหรัฐ” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน