คลังฟุ้งอานิสงส์ส่งออกโตต่อเนื่องพยุงเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. ขยายตัว 13% สูงสุดในรอบ 36 เดือน

อานิสงส์ส่งออกพยุงศก. – นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ในเดือนเม.ย. 2564 ยังคงขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ขณะเดียวกันยังต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเม.ย. 2564 อย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 65.8% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 9.8% ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวในระดับสูงที่ 60.8% ต่อปี ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ขยายตัวสูงถึง 92.4% ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 46.0 จากระดับ 48.5 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน ยังช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ 16.5% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่กลับมาขยายตัว 93.1% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ติดลบ 1.6% ต่อปี ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว 40.4% ต่อปี

ในส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 13.1% ต่อปี เป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 36 เดือน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 135.9% ต่อปี และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 55.5% ต่อปี ด้านสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ขยายตัว 85.2% ต่อปี และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 40% ต่อปี ส่วนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐ ขยายตัว 9% ต่อปี, จีน ขยายตัว 21.9% ต่อปี, สหภาพยุโรป ขยายตัว 52.5% ต่อปี และเอเชียใต้ ขยายตัวที่149.9% ต่อปี

นายวุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ในเดือนเม.ย. 2564 พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 8,529 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และจีน ในขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยขยายตัว 5,261.5% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.8% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง และผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ เช่น สุกร และไก่ เป็นต้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 84.3 จากระดับ 87.3 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-9 ระลอกใหม่ แต่ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.4% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.3% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2564 อยู่ที่ 54.3% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 250.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน