ส.อ.ท. จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีน 70% ของประชากรก่อนเปิดประเทศ แนะทยอยเปิดบางพื้นที่ – เชื่อเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตามมา

ส.อ.ท. จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีน – นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 7 ในเดือนมิ.ย. 2564 ภายใต้หัวข้อ “120 วัน เตรียมความพร้อมเปิดประเทศ” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มองการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ควรพิจารณาจากความพร้อมและสถานการณ์ในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ และจำนวนเพียงพอ รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประเทศ

โดยจากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. 201 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ 56.7% มองว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ควรเปิดเมื่อสถานการณ์มีความพร้อม คือ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รองลงมา คิดเป็น 31.3% เห็นด้วยกับเป้าหมายในการเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน อีก 9.5% มองว่ายังไม่ควรเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะ 3-4 เดือนนี้ และ 2.5% มีความเห็นที่ต้องการให้เร่งเปิดประเทศให้เร็วกว่าเป้าหมาย

“รูปแบบการเปิดประเทศที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าเหมาะสมนั้น 59.2% เห็นควรทยอยเปิดเป็นบางพื้นที่ตามความพร้อมของจังหวัด รองลงมา 34.8% เปิดเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และลำดับสุดท้าย 6% เป็นการเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ โดย 81.6% คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายหลังการเปิดประเทศ รองลงมา 14.4% มองว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากแรงกดดันจากผลกระทบของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจโลก และ 4% คาดว่าจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19”

ปัจจัยสำคัญที่ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประเทศ 3 อันดับแรก พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. 93% ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ จำนวนเพียงพอ และการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รองลงมา 74.6% เป็นการกำหนดแผนงานที่ชัดเจน มีระบบการประเมินสถานการณ์ การสื่อสารที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง และ 72.6% การเตรียมมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยว เช่น วัคซีนพาสปอร์ต, Vaccine certificate, Health insurance, ใบรับรองแพทย์ Fit To Fly เป็นต้น

สำหรับมาตรการกำกับดูแลที่ภาครัฐควรดำเนินการหลังเปิดประเทศ 3 อันดับแรกนั้น 74.1% ประเมินศักยภาพพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว การจำกัดพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยว และการเดินทางข้ามจังหวัด รองลงมา 72.1% การพัฒนาระบบติดตามการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 67.2% การบริหารงานแบบให้บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกดูแลนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังถามถึงกรณีที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังจากการเปิดประเทศ ภาครัฐควรเตรียมแผนสำรองรับมืออย่างไร 3 อันดับแรก พบว่า 83.1% การเตรียมความพร้อมของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน สถานที่กักตัวทางเลือก และโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ รองลงมา 71.6% การนำเข้าวัคซีนที่รองรับเชื้อกลายพันธุ์ และเร่งพัฒนาวัคซีนที่ผลิตได้เองภายในประเทศ และ 65.7% การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรค เช่น ห้ามกิจกรรมที่มีความเสี่ยง มาตรการล็อกดาวน์ ในบางพื้นที่ การจำกัดพื้นที่ท่องเที่ยว และการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร ส.อ.ท. 80.6% สนับสนุนวัคซีนทางเลือกให้แก่แรงงานในสถานประกอบการ รองรับการเปิดประเทศตามเป้าหมายของภาครัฐ รองลงมา 51.2% การควบคุมดูแลพนักงานในสถานประกอบการอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และการพัฒนาสินค้าโดยให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงการทำมาตรฐานด้านสุขอนามัย เช่น IPHA

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน