บอนสีจีน ทะลักเข้าไทย 10 เดือนพุ่ง 200 เปอร์เซ็นต์ หลังในประเทศปั่นราคา ใบด่าง พุ่งเป็นล้าน ด้าน กรมวิชาการเกษตร เล็งแก้กฎหมายเอาผิด

วันที่ 27 ต.ค.2564 รายงานข่าวจาก กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากกระแสความนิยมพืชใบด่าง ในประเทศไทยมีสูงขึ้น ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้มีการนำเข้าพืชประเภทไม้ด่าง โดยเฉพาะบอนสี จากประเทศจีน และใบพืชอื่นๆ จาก สหรัฐอเมริกา เมียนมาและเวียดนาม เข้ามาจำนวนมาก ช่วง เกือบ 10 เดือนแรกของปี 2564 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบ 200 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปี มีการนำเข้ามาประมาณ 1 ล้านบาทกว่า ๆ ยังไม่รวมการลักลอบนำเข้าตามตะเข็บชายแดนจำนวนมาก โดยเฉพาะพืชที่ต้องห้าม

ทั้งนี้ ในช่วงที่คนไทยมีความนิยมพืชใบด่าง ก็มีการลักลอบนำผ่านชายแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นจำนวนมาก อย่างกล้วยด่างอินโด มีราคาสูงถึงล้านบาท จึงเกิดแก๊งลักลอบนำเข้า ยอมเสี่ยงเพราะกฎหมายของกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้มีโทษปรับหรือจำคุก สำหรับการนำเข้าพืชต้องห้าม แค่ยึดพืชเหล่านั้นไว้เพื่อทำลาย หรือส่งคืนประเทศต้นทาง กรมวิชาการเกษตร จึงเตรียมปรับแก้กฎหายเพื่อเอาผิด กับผู้ที่ลักลอบนำเข้าพืชต้องห้าม เพราะอาจเป็นต้นเหตุของแมลงศัตรูพืช หรือเชื้อโรคเข้ามาระบาดเมืองไทย

“บอนสีที่นำเข้ามาจากจีน เป็นพืชสวยงาม เป็นไม้ประดับที่ก่อนหน้านี้ราคาไม่แพง แต่ในเมืองไทยมีการปั่นราคา และบางกลุ่มมีการซื้อเพื่อเก็งกำไร โดยเอาไปขายต่อให้คนที่ชื่นชอบทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น บางต้นมีราคาหลายแสน บางต้นมีราคาเป็นล้าน ทำให้ยอดการนำเข้าโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ไม่รวมตามตะเข็บชายแดน หรือมีการซุกเมล็ดเข้ามาในกระเป๋าเสื้อผ้า หากเป็นพืชใบด่างที่ห้ามนำเข้า อาทิ กล้วยด่าง พิทูเนีย และ พริกประดับ หากพบจะมีการจับและยึด ทำลาย สาเหตุที่ห้ามนำเข้ายังไม่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช”

สำหรับสถิติ 6 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) กรมวิชาการเกษตร โดยด่านตรวจพืช มีการแจ้งเตือนประเทศผู้ส่งพืชเข้าเมืองไทยจำนวนมาก ซึ่งแจ้งเตือนตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าด้วยมาตรฐานด้านสาธารณสุขอนามัยพืช เรื่องแนวทางปฏิบัติสำหรับการแจ้งเตือน การไม่ปฏิบัติตามและมาตรการฉุกเฉิน ภายใต้อนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ โดยสาเหตุที่แจ้งเตือน 6 เดือนพบศัตรูพืชจำนวน 219 ครั้ง แบ่งเป็นผิดเงื่อนไขการนำเข้า 40 ครั้ง พบศัตรูพืชที่ยังไม่มีรายงาน 32 ครั้ง พบดิน และวัสดุปลูก 11 ครั้ง และพบการปนเปื้อนสิ่งมีชีวิต 10 ครั้ง

ส่วนผู้ส่งออกที่ถูกกรมวิชาการเกษตรแจ้งเตือนสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 99 ครั้ง เมียนมา 65 ครั้ง เวียดนาม 60 ครั้ง และ จีน 28 ครั้ง ส่วนสินค้าพืชและส่วนประกอบของพืชที่ตรวจพบศัตรูพืชสูงสุด ได้แก่ ข้าวโพดสัดส่วน 19.80 เปอร์เซ็นต์ กากข้าวโพด สัดส่วน 19.16 เปอร์เซ็นต์ และผลทุเรียนสด 13.41 เปอร์เซ็นต์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน