วิกฤตราคาพลังงานพุ่ง
วัดใจรัฐบาลลดภาษี-กู้เงินอุ้ม

รายงานพิเศษ

นับถอยหลังสิ้นสุดโปรโมชั่นพลังงานราคาถูก

ร่ายกันตั้งแต่ค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ส่งสัญญาณก่อนใคร เมื่อปลายปี 2564 ประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) โดยงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์/หน่วย จากงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2564 ติดลบ 15.32 สตางค์/หน่วย มาอยู่ที่ 1.39 สตางค์/หน่วย

ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บประชาชนเดือนม.ค.-เม.ย.2565 อยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย จากงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2564 เรียกเก็บในอัตรา 3.61 บาท/หน่วย หลังจากนั้นจะทยอยขึ้นแบบขั้นบันได

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. ยอมรับว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีที่อาจปรับขึ้นสูงกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขึ้น 16.71 สตางค์/หน่วย ทุกงวดในปี 2565 (งวดละ 4 เดือน)

ไม่ต้องพูดถึงราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศขึ้นแล้วขึ้นอีก ล่าสุดวันที่ 8 ก.พ. 2565 ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดปรับขึ้นอีก 50 สตางค์/ลิตร นับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 9 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเทียบกับวันที่ 5 ม.ค.2565 ทำให้ภาพรวมน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นไปแล้ว 3.30 บาท/ลิตร

โดยน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 42.46 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.78 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.05 บาท/ลิตร ส่วนอี 20 อยู่ที่ 33.94 บาท/ลิตร อี 85 อยู่ที่ 27.24 บาท/ลิตร ขณะที่น้ำมันกลุ่มดีเซลรัฐบาลยังคงมีมาตรการตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ส่งผลให้ดีเซล บี 7 (น้ำมันพื้นฐาน) และบี 20 คงอยู่ที่ 29.94 บาท

ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร รวม 3.79 บาท/ลิตร คิดเป็นเงินรวมกว่า 7,000 ล้านบาท แต่หากรัฐไม่มีมาตรการอุดหนุน ราคาดีเซลจริงจะขึ้นไปอยู่ที่ 34 บาท/ลิตร

ล่าสุดราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาขนาดถัง 15 กิโลกรัม (ก.ก.) ไว้ที่ 318 บาท วันที่ 31 มี.ค.2565

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่ารัฐเตรียมแนวทางปรับราคาก๊าซหุงต้มขึ้นแบบขั้นบันได ขั้นแรกอาจขึ้น 15 บาท/ถัง 15 ก.ก. ไปอยู่ที่ 333 บาท/ถัง 15 ก.ก.

ขั้นที่สองอาจขึ้น 30 บาท/ถัง 15 ก.ก. ไปอยู่ที่ 363 บาท/ถัง 15 ก.ก. เป็นราคาเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากปัจจุบันหากไม่มีมาตรการตรึงราคาจากภาครัฐก๊าซหุงต้มจริงจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 432 บาท/ถัง 15 ก.ก.

โดยกระทรวงการคลังยังคงมีมาตรการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ 13.5 ล้านคน 45 บาท/3 เดือนตามเดิม และจะเพิ่มเติมในส่วนของกระทรวงพลังงานที่มีแนวทางอุดหนุนอีก 55 บาท/3 เดือน รวมเป็นรัฐอุดหนุน 100 บาท/3 เดือน เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย เช่น หาบเร่ แผงลอย ในช่วงที่ราคาก๊าซหุงต้มทยอยปรับขึ้น

“กระทรวงพลังงานต้องหาแหล่งเงินอื่นมาใช้ในการอุดหนุนเพิ่มเติม 55 บาท/ถัง 15 ก.ก. และยังไม่มีความชัดเจนว่ากระทรวงพลังงานจะหาเงินจากแหล่งใด”

นับตั้งแต่เดือนก.พ.2563 จนถึงปัจจุบันกระทรวงพลังงานใช้กลไกกองทุนอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มไปแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับขึ้นราคาก๊าซ หุงต้มทุก 1 บาท/ถัง 15 ก.ก. จะช่วยลดภาระการอุดหนุนกองทุนได้ประมาณ 270-280 ล้านบาท/เดือน

ขณะที่ ณ วันที่ 6 ก.พ.2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสถานะติดลบ 16,052 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันเป็นบวก 9,166 ล้านบาท ซึ่งบนสมมติฐานที่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกไม่เกิน 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กองทุนใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล 3.79 บาท/ลิตร ประมาณ 63 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นเงินประมาณ 238.77 ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท/เดือน

ส่วนบัญชีแอลพีจีติดลบ 25,218 ล้านบาท กองทุนใช้เงินอุดหนุน 14.86 บาท/ก.ก. คิดเป็นเงินประมาณ 63 ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 1,800-1,900 ล้านบาท/เดือน ขณะที่กองทุนมีบัญชีเงินฝากธนาคารและกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังประมาณ 24,000 ล้านบาท จะสามารถนำมาใช้ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร และ ตรึงราคาแอลพีจีอยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 ก.ก. ได้ประมาณ 2-3 เดือน

กรณีเลวร้ายสุด สถานการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีโอกาสขึ้นไปแตะที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นทุก 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ 20 สตางค์/ลิตร กองทุนจำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุนกว่า 8,000-9,000 ล้านบาท/เดือน เงินกองทุนที่มีอยู่จะประคองสถานการณ์ราคาได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น

ดับฝันสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ออกมาตั้งขบวนรถบรรทุกบนถนนวิภาวดีรังสิต เรียกร้องให้กระทรวงพลังงานปรับลดราคาดีเซลลงเหลือ 25 บาท/ลิตร เพราะต้องใช้เงินอุดหนุนถึงเดือนละ 17,000 ล้านบาท/เดือน แต่ลำพังสถานะกองทุนเวลานี้มีก็หมด ไม่มีเงินมาอุดหนุนราคาดีเซลให้ปรับลดลงได้ตามข้อเสนอแน่นอน

จนนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. เป็นต้นไป ผู้ประกอบการรับจ้างขนส่งที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ จำนวน 4 แสนคัน จะปรับขึ้นค่าขนส่ง 20% พร้อมกัน ทั่วประเทศ

แน่นอนว่า ถ้ารถบรรทุกขึ้นค่าขนส่ง 20% ข้าวของ ทุกอย่างจะขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ ปัญหาเงินเฟ้อจะตามมาติดๆ ซ้ำเติมเข้าไปอีกจากราคาสินค้าปรับขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ส่วนก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตรึงราคาไว้อยู่ที่ 15.59 บาท/ก.ก. ตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.2564 จนถึงกลางเดือนมี.ค.2565 จะรวมเป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ทางสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทยได้เรียกร้องให้ปรับลดลงอยู่ที่ 9 บาท/ก.ก. นาน 3-6 เดือน หรือจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว กลับมา จากปัจจุบันอยู่ที่ 15.60 บาท/ก.ก. และแอลพีจี อยู่ที่ 13.50 บาท/ก.ก. ก็กำลังพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะช่วยดูแลอย่างไร แต่จะเน้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มรถสาธารณะเป็นหลัก

รอเงกเงินกู้ 20,000 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 30,000 ล้านบาท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ปีก่อนยังไม่รู้อยู่หนใด กระบวนการภายในของธนาคารแต่ละแห่งต้องรอบอร์ดธนาคารพิจารณาเห็นชอบก่อน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ออมสิน และกสิกรไทยหวังเพียงว่าจะมีเงินกู้เข้ามาช่วงเดือนเม.ย.นี้ ทันเวลาที่เงินกองทุนจะหมดลง

โยนหินถามทางกระทรวงการคลัง จะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงได้หรือไม่ ที่ผ่านมาได้รับคำตอบอย่างแข็งขันจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ว่าไม่มีนโยบายลดภาษีแน่นอน แถมย้ำว่า การเร่งขยายฐานภาษี ฐานรายได้ เป็นเรื่องจำเป็น เพราะรัฐบาลประสบปัญหาค่าใช้จ่ายสูง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

แต่ในที่สุดคงโดนกดดันไม่ไหว ล่าสุด นายอาคมระบุว่า กระทรวงพลังงานเตรียมจะเสนอแพ็กเกจมาตรการ ดูแลค่าครองชีพในหมวดพลังงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 15 ก.พ.นี้

โดยมาตรการภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็รวมอยู่ในแพ็กเกจ ดังกล่าวด้วย ซึ่งนโยบายหลักของรัฐบาลคือ การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ขณะที่รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ของ ครม. โดยการประชุมในวันที่ 15 ก.พ.นี้ ทางกรม สรรพสามิตได้ทำทางเลือกเกี่ยวกับการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 50 สตางค์ จนถึง 5 บาท ให้ ครม. พิจารณา เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด

โดยเฉพาะผลกระทบว่าจะทำภาษีหายไปเท่าไร ซึ่งยอมรับว่าจะกระทบกับการจัดเก็บรายได้โดยรวมของประเทศ จนทำให้ปีงบประมาณ ปี 2565 มีปัญหา รายได้ไม่พอกับรายจ่าย

ปัจจุบันภาษีน้ำมันกลุ่มดีเซลเก็บอยู่ที่ 5.99 บาท/ลิตร เบนซินเก็บอยู่ที่ 6.50 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 เก็บอยู่ที่ 5.85 บาท/ลิตร ส่วนอี 20 เก็บอยู่ที่ 5.20 บาท/ลิตร อี 85 เก็บอยู่ที่ 0.975 บาท/ลิตร

เวลานี้จึงทำได้เพียงปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลลงเหลือ 5% เป็นบี 5 มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2565-31 มี.ค. 2565 เพื่อช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 50-60 สตางค์/ลิตร จากก่อนหน้านี้มีบี 7 บี 10 บี 20 และลดลง เหลือบี 7 และบี 20

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมเดินหน้าหารือสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อจัดหาแหล่งเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องในการดูแลโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ คาดว่าจะมีความชัดเจนช่วงกลาง-ปลายเดือนก.พ.นี้

“เบื้องต้นแหล่งเงินน่าจะมาจากการกู้สถาบันการเงิน หรืองบประมาณ เพื่อใช้อุดหนุนราคาน้ำมันและแอลพีจี”

ท่ามกลางสถานการณ์การคลังอยู่ในภาวะถังแตก คงต้องวัดใจรัฐบาลว่าจะกล้าลดภาษีน้ำมันดีเซลได้มากน้อยแค่ไหน?

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน