สศช.คาดเศรษฐกิจปีนี้โต 3% ชี้อนาคตโลกขัดแย้งมากขึ้น ไทยต้องไม่เลือกข้าง ชี้หลังเปิดประเทศ คาดนักท่องเที่ยวทั้งปีประมาณ 7-10 ล้านคน

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปาฐกถาพิเศษ ‘สู่โอกาสใหม่ STRONGER THAILAND’ จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน เครือมติชน ว่า หลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤตซับซ้อนมากขึ้น สามารถเกิดขึ้นและเป็นปัญหาที่คาดการณ์ได้ยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว ที่ผ่านมาได้บริหารจัดการ 3 เรื่องหลัก คือ 1.การรักษาชีวิตของประชาชน 2.การเยียวยาผลกระทบ และ 3.กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม

“ในช่วงหลังจากนี้ถึงระยะข้างหน้าโลกจะมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบทางภูมิศาสตร์การเมืองจะรุนแรงขึ้น เกิดการแบ่งขั้วอำนาจมากขึ้น จึงเป็นจุดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปต้องวางตำแหน่งให้ดี ต้องชัดเจนมีจุดยืนว่าไม่ได้เลือกข้างฝ่ายใด และพร้อมประสานทุกประเทศได้”

นายดนุชา กล่าวต่อว่า จากการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง สศช.ยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวได้ 3% แน่นอน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออก แม้มีสงครามรัสเซียกับยูเครน แต่ก็เป็นโอกาสด้านการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้น รวมทั้งคาดว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวทั้งปีรวม 7-10 ล้านคน ส่วนปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7%

นายดนุชา กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการมาช่วยบรรเทาภาระประชาชนบ้างแล้วและมีอีก 8 มาตรการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่รัฐจะจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน เช่น กองทุนน้ำมันเชื่อเพลิงใช้เงินไปแล้ว ปัจจุบันมีสถานะติดลบกว่า 9 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนมิ.ย.นี้อาจติดลบถึง 1 แสนล้านบาท จากราคาน้ำมันแพงก็พยายามให้หลายหน่วยงานเข้ามาพูดคุย และขอความร่วมมือประชาชนปรับตัวช่วยกันใช้พลังงานอย่างประหยัด

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บรรยายในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อโอกาสใหม่” ว่า สิ่งที่ไทยกำลังเจอหนักๆ ในปัจจุบันนี้คือ คือเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจนทำให้เกิดกระแสดิสรัปชั่น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้น ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่าง ส.อ.ท.จึงออกโปรแกรม industry transformation เพื่อช่วยให้ทุกอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้น และให้ทุกอุตสาหกรรมไปถึง 4.0

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกันโดยตั้ง 1FTI ขึ้นมา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยเข้มแข็งกว่าเดิม เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาเครื่องยนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ และเชื่อถือได้ คือ ภาคการส่งออก ที่ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้จีดีพีปี 2564 กลับมาเป็นบวกที่ 1.4% จากในปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฉุดจีดีพี ติดลบ 6.1%

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเสวนา “Stronger Bangkok ; Stronger Thailand” ว่า ปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน เรื่องปากท้องถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสุด ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ รายได้ลดลง แต่หนี้ครัวเรือนสูงบขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ผู้นำทุกคนจะต้องแก้ปัญหา อาทิ ผู้ว่าฯ กทม. พยายามร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม โดยบริบทของประเทศต้องจัดการเรื่องรายได้ หนี้ครัวเรือน และการลดค่าใช้จ่าย

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า มองว่าหลายๆ หน่วยงานมีความเกรงใจและเกรงกลัว คือ ไม่มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมองว่ามีความสำคัญ และได้ประโยชน์มากหากกทม. มีการพัฒนาที่ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น เชื่อว่าเอกชนพร้อมร่วมมือ ซึ่งเอกชนไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องเกรงใจในการเรียกหา การให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และลดภาระงบประมาณ เชื่อว่าเอกชนยินดีช่วยเหลือ อาทิ การนำที่ดินเปล่ามาใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนรวมดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน