นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 4 มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งการจ้างงาน สร้างที่อยู่ ให้สินเชื่อ และตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อลดภาระงบประมาณของภาครัฐ หลังกระทรวงการคลัง รายงานว่า ในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ คือ มีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 20% จากสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ และมีภาระงบประมาณเข้าไปดูแลสูงถึงปีละ 698,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 2 เท่าตัว

สำหรับมาตรการแรก เป็นการช่วยเหลือการจ้างงานผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท โดยเอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนและค่าจ้างดังกล่าว ไปหักภาษีได้ 2 เท่า แต่ขอใช้สิทธิได้ไม่เกิน 10% ของลูกจ้างทั้งหมด ช่วยลดภาระให้เอกชนที่จ้างงานได้เดือนละ 3,000 บาทต่อคน คาดว่าจะครอบคลุมลูกจ้างในกลุ่มนี้ประมาณ 94,000 คน ซึ่งรัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 3,300 บาท

มาตรการที่ 2 เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ แบ่งเป็นบนที่ราชพัสดุ ในจังหวัดชลบุรี นครนายก เชียงราย และเชียงใหม่ โดยใน 3 จังหวัดแรก คิดค่าเช่าตารางวาละ 1 บาทต่อเดือน และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 2 เท่าของค่าเช่า 1 ปีส่วนเชียงใหม่ ให้คิดตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยผู้เช่าได้รับสิทธิ์เช่าเป็นเวลา 30 ปี และต่ออายุได้อีก 30 ปี ส่วนการก่อสร้างบนที่ดินอื่น คือของการเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ให้นำหลักการของโครงการบ้านมั่นคง บ้านประชารัฐมาใช้ สุดท้ายให้ธนาคารออมสิน และธอส. ปล่อยสินเชื่อวงเงินรวมกัน 4,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการอสังหาฯไปพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และจัดสรรวงเงินสินเชื่อให้ผู้สูงอายุรองรับโครงการ โดยทั้ง 3 กรณีกำหนดให้บุตรที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูจะได้สิทธิ์จองก่อนเป็นลำดับแรก

p0108260359p1

มาตรการที่ 3 เป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้สูงอายุที่มีบ้านปลอดภาระหนี้ สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นรายได้ ซึ่งมูลค่าเงินที่กู้ได้จะขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้ มูลค่าบ้าน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งผู้กู้สามารถเลือกรับเงินเป็นก้อนเดียวหรือทยอยรับเป็นงวดจนกว่าจะเสียชีวิต หรือจนกว่าจะหมดอายุสัญญาเงินกู้ โดยเน้นให้จ่ายแบบรายเดือน ซึ่งผู้กู้ไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยจนกว่าจะสิ้นสุดการกู้ยืม แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่ในบ้านหลังนั้นตลอดระยะเวลากู้ ขณะที่รายละเอียดของวงเงินให้กู้นั้นธนาคารจะไปพิจารราความเหมาะสมอีกครั้ง ส่วนสัญญาการกู้ในระยะแรกให้ยึดอายุสัญญาตามอายุขัยเป็นหลักก่อน โดยเมื่อกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตก่อนหมดสัญญาก็ให้ธนาคารผู้ให้กู้ขายหลักประกันมาจ่ายหนี้ต่อไป รวมทั้งยังให้มีการตั้งบริษัทคำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมารองรับความเสี่ยงด้วย

นอกจากนี้ในมาตรการสุดท้าย เป็นการบรูณาการระบบบำเหน็จบำนาญ โดยจะออกเป็นร่างพ.ร.บ.จำนวน 2 ฉบับ ต่อไป เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมกับให้กบช. เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ สำหรับแรงงานในระบบ ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวม 11.37 ล้านคน โดยการเข้าระบบดังกล่าว กำหนดให้กิจการขนาดใหญ่ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องเข้าระบบในปีแรกหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้

ลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินเข้ากบช.ฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกินเดือนละ 1,800 บาท และทยอยปรับเพิ่มเป็น 3% และ 10% ใน 10 ปี โดยไม่ให้ส่งเงินเข้ากองทุนเกิน 15% ของค่าจ้าง ตั้งแต่ปีแรกที่เป็นสมาชิกกองทุน ส่วนลูกจ้างที่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน โดยให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว คาดว่าการทำเรื่องนี้จะช่วยให้แรงงานมีเงินออมหลังเกษียณเพิ่มเป็น 50% ของรายได้ จากปัจจุบันอยุ๋ที่ 19% และยังช่วยเพิ่มระดับการออมของประเทศสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 68,000 ล้านบาท

“มาตรการทั้งหมดนี้ ออกมารองรับสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ มาตั้งแต่ปี 2551 และสิ้นปี 2558 ประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้สูงอายุคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2568 และเป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐที่เกิดขึ้นในแต่ละปี เพราะในปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบสำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินสมทบเข้ากองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เป็นจำนวนกว่า 2.87 แสนล้านบาทและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2567 เป็น 6.98 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว” นายกอบศักดิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน