พาณิชย์ จับมือผู้ผลิตสินค้า-ห้างค้าปลีก-หน่วยงานรัฐ 150 ราย จัดมหกรรมลดราคาสินค้าทั่วประเทศ หั่นค่าครองชีพ ช่วย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก่อนเงินดิจิตอลวอลเล็ตออก
วันที่ 9 ส.ค.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ห้างค้าปลีกค้าส่ง สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และหน่วยงานด้านการค้า รวม 150 รายมาหารือ เพื่อขอความร่วมมือให้ร่วมดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ในช่วงก่อนที่จะมีการคิกออฟโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
เบื้องต้นผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือร่วมจัดกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยจะจัดกิจกรรมรวม 3 กิจกรรมดังนี้
1.การลดต้นทุนให้ประชาชน และผู้ประกอบการรายเล็ก ด้วยการลด ค่าใช้พื้นที่รายเดือนให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าในศูนย์อาหารสวัสดิการ และตลาดนัดของหน่วยงานราชการ โดยกระทรวงสาธารณะสุขได้เริ่มลดค่าเช่าพื้นที่ขายของในโรงพยาบาลในสังกัดรวม 1000 แห่ง,การจัดโปรโมชั่นราคาสินค้าร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำ คือ ลาซาด้า ชอปปี้ ติ๊กตอก รวมทั้ง ขอความร่วมมือ บริษัทไปรษณีไทย จำกัด ลดค่าขนส่ง
2.การเพิ่มพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ,จัดตลาดนัดพาณิชย์ทั่วประเทศ ทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ระยะเวลา 3 เดือน โดยกำหนดสถานที่จัด เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน มหาวิทยาลัย ลานหน้าห้างค้าส่ง-ปลีก ลานหน้าห้างท้องถิ่น หมู่บ้านจัดสรร เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้า ได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และ3.จับมือผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่จัดมหกรรมลดราคาสินค้าระดับจังหวัดทั่วประเทศ
“รัฐบาลจะดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล 3 เดือน เริ่มคิกอ๊อฟวันที่ 20 ส.ค.-20 พ.ย.2567เชื่อว่าจะ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ในช่วงที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังรอเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต มั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนนี้ได้”
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนตลาดที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงอื่น ๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตลาดในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่สำคัญ เช่น ตลาดนัดจตุจักร และตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2) เป็นต้น รวมถึงพื้นที่ ๆ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดูแลอยู่ เช่น ใต้ทางด่วน ล่าสุดได้เริ่มมีการประกาศปรับลดค่าเช่าลงมาแล้ว
สำหรับการจัดตลาดนัดพาณิชย์ทั่วประเทศ ขณะนี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ได้เริ่มเตรียมความพร้อม โดยอยู่ระหว่างการกำหนดวัน เวลา ในการจัดตลาดนัดพาณิชย์ทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ระยะเวลา 3 เดือน โดยกำหนดสถานที่จัด เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน มหาวิทยาลัย ลานหน้าห้างค้าส่ง-ปลีก ลานหน้าห้างท้องถิ่น หมู่บ้านจัดสรร เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้า ได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า และช่วยให้ประชาชนได้จับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะเริ่มคิกออฟได้วันที่ 20 ส.ค.2567 นี้ โดยในการจัดตลาดนัดพาณิชย์แต่ละครั้ง จะมีการนำสินค้าธงฟ้า เช่น ไข่ไก่ น้ำตาล น้ำมันพืช ข้าวสาร สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าชุมชนราคาถูก อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ซอสปรุงรส น้ำยาซักผ้า ของใช้ประจำวัน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องแต่งกาย ไปจำหน่าย เพื่อลดค่าครองชีพ
นอกจากนี้ กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงกลาโหม นำรถทหารมาทำเป็นรถโมบาย นำสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพไปขายในฟื้นที่ห่างไกล เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงสินค้าราคาถูก รวมทั้งมีแผนที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาหอการค้าแห่งประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงห้างค้าส่ง-ปลีก และห้างท้องถิ่น จัดมหกรรมลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพด้วย
“โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะดำเนินการในช่วง 3 เดือนจากนี้ ทั้งการช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก การจัดตลาดนัดพาณิชย์ทั่วประเทศ และการลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ จะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยลดภาระค่าครองชีพ ในช่วงที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังรอเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนนี้” นายภูมิธรรมกล่าว