‘สุริยะ’ สั่งสอบเหตุดินถล่ม อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน พร้อมดูสัญญาจ้าง จัดทำสมุดพกตัดคะแนน ลั่นถ้าเกิดซ้ำอีก ลงโทษสูงสุด

วันที่ 25 ส.ค. 2567 นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุดินถล่มบริเวณอุโมงค์ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงคลองขนานจิตร ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

จากการตรวจสอบและได้รับรายงาน พบว่าจุดเกิดเหตุนั้นมีความลึกประมาณ 30 เมตรจากพื้นดิน ซึ่งในขณะเกิดเหตุอยู่ระหว่างการปฏิบัติงานทำผนังอุโมงค์ และมีฝนตกสะสม จึงทำให้ดินหนัก ส่งผลให้ทราย และเศษปูนไหลร่วงลงมา

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้ปฏิบัติงานติดอยู่ภายในอุโมงค์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.นายหูเสียง หมิ่น เพศชาย สัญชาติจีน (ผู้ควบคุมงาน) 2.นายตงชิ่น หลิน เพศชาย สัญชาติจีน (ขับแบ๊กโฮ) และ 3.แรงงานชาวพม่า ไม่ทราบชื่อ (ผู้ขับรถบรรทุก)

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยการอัดท่อเข้าไปภายในอุโมงค์ เพื่อเพิ่มอากาศด้านล่างที่มีดินถล่มทับ หลังจากนั้นจะใช้ท่อที่มีความกว้าง 1.2 เมตร อัดอากาศเข้าไปอีก เพื่อให้มีอากาศหายใจ รวมถึงเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถลงไปด้านล่าง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในอุโมงค์อย่างเต็มที่และเร่งด่วน

นายกฤชนนท์ กล่าวอีกว่า นายสุริยะได้ติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์สำเร็จ นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงตรวจสอบสัญญาจ้างต่างๆ อย่างละเอียด

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจะจัดทำสมุดพกตัดคะแนนผู้รับเหมา ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าร่วมประมูลงานอื่นๆ ในอนาคต โดยนายสุริยะได้เน้นย้ำว่าเหตุการณ์ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกอย่างเด็ดขาด หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำจะมีบทลงโทษขึ้นสูงสุดต่อไป เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการที่ดูแลรับผิดชอบโครงการฯ มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยสูงสุด

ขณะที่โครงการอื่นๆ ของกระทรวงคมนาคมนั้น นายกฤชนนท์ เผยว่า จะคุมเข้มเรื่องการกลั่นกรองผู้รับเหมามากขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีความซับซ้อน และโครงการที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญครอบคลุมในทุกมิติ อีกทั้งการเข้าประมูลงานของรัฐนั้น ไม่ใช่เพียงว่าเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษจะสามารถเข้าร่วมประมูลได้ แต่จะมีการตรวจสอบเชิงเทคนิคของบริษัทที่จะเข้ารับงานอย่างละเอียด และต้องให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย รวมถึงต้องไม่เกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้วย

“กระทรวงคมนาคมจะเข้มงวด และตรวจสอบทุกโครงการอย่างละเอียด โดยเฉพาะด้านเทคนิค ด้านความปลอดภัย ซึ่งต้องไม่เกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อพี่น้องประชาชน จะมีการเข้าตรวจสอบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน และในขณะทำงาน รวมถึงหลังจากงานแล้วเสร็จอย่างละเอียด” นายกฤชนนท์กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน