แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำแผนฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ภายในต้งบประมาณ 3.2 พันล้านบาท เสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ประชุม ศปช. เห็นชอบในหลักการเตรียมนำเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอังคารที่ 15 ต.ค. 2567
สำหรับ แผนฟื้นฟูฯ จะแบ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ออกเป็นประเภทพืชไร่ พืชสวน ประมงและปศุสัตว์ ดังนั้น หลังการประชุมร่วมกับ ศปช. นางนฤมล สั่งการให้ทุกกรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ให้เร่งดำเนินการ เข้าสู่โหมดการฟื้นฟูและการบริหารน้ำลดการระบาย เพื่อให้เกษตรกร และประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
“ในที่ประชุม เห็นชอบในหลักการที่จะช่วยเหลือเกษตรกร แต่นายปลอดประสพ สุรัสวดี สั่งให้กระทรวงเกษตรฯ นำกับแผนฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ไปดำเนินการให้ลงรายละเอียดเป็นรายจังหวัด อาทิ จ.เชียงราย มีผู้ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ต้องดำเนินการช่วยเหลือในแง่ของเกษตรกร ที่เป็นชาวนา ชาวสวน หรือประมง ปศุสัตว์ เกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาจะช่วยฟื้นฟูอย่างไร ให้กลับทบทวนเพื่อให้ความช่วยเหลือลงถึงเกษตรกรโดยเร็ว โดยให้หารือกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางก่อน เพื่อนำเข้าเสนอ ครม.ต่อไป”
นายธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้การประสบภัยน้ำท่วมในประเทศไทย เริ่มเป็นช่วงปลายๆ ฤดูกาลแล้ว ต่อจากนี้ไปฝนจะลงไปภาคใต้ ดังนั้นภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง ที่ประสบภัยน้ำท่วมจะเข้าสู่โหมดการฟื้นฟู รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้เร่งดำเนินการเพื่อให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ และเป็นช่วงปลายฤดูฝนแล้ว เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีน้ำใช้ในฤดูแล้งปี 2567/68 หรือตั้งแต่ 1 พ.ย. 2567
“กระทรวงเกษตรฯ เตรียมประกาศให้ฤดูแล้งชาวนาสามารถทำนาปรังได้ประมาณอย่างน้อย 6 ล้านไร่ หรือมากกว่านั้น เพื่อเป็นการชดเชยที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยภิบัติ ให้สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา โดยกรมชลประทานมีน้ำเพียงพอที่สนับสนุนการทำนาปรังในฤดูกาลนี้”