หอการค้า หวั่นส่งออกอาหาร สะเทือน 1.7 แสนล้าน หากทรัมป์ขึ้นภาษี เม.ย.-พร้อมเปิดโผ 38 สินค้าเสี่ยง-ตั้งเป้าส่งออกปีนี้ 1.75 ล้านล้านบาท โต 6.8%
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถนนราชบพิตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันอาหาร ร่วมกันเปิดแถลงข่าวถึง สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผอ.สถาบันอาหาร เปิดเผยว่า พบว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 มีมูลค่า 1,638,445 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากความต้องการเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ฟื้นตัว
ส่วนปี 2568 คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารจะมีมูลค่า 1,750,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.8% เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ทั้งมันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด และมะพร้าว ขณะที่ค่าเงินบาทปีนี้อาจเคลื่อนไหว 33-35 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งเอื้อต่อการส่งออก โดยสินค้าส่งออกด่าวเด่นปีนี้ คือ อาหารสัตว์เลี้ยง ซอสและเครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน และผลิตภัณฑ์มะพร้าว
อย่างไรก็ตาม การส่งออกเกษตรและอาหารของไทยปีนี้ ยังคงมีความเสี่ยงสูงจากนโยบายจัดเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (reciprocal tariffs) ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะนำมาใช้กับประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ซึ่งรวมทั้งไทย ซึ่งอาจจะทำให้การส่งออกปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าคาดการณ์
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกเกษตรและอาหารปีนี้มีความท้าทายมากเพราะสินค้าอาหารไทยมีความเสี่ยงที่อาจถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะขึ้นในอัตราเท่าไหร่และสินค้าใดบ้าง รวมทั้งสหรัฐอาจใช้มาตรการกดดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้าเกษตรอาหารเพิ่มเติม
“ไทยมีความเสี่ยงอาจถูกขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอาหาร เพราะปีที่แล้ว ไทยมียอดเกินดุลการค้าสินค้าอาหารกับสหรัฐ 128,230 ล้านบาท ราว 10% ของยอดเกินดุลรวมของไทย รองจากอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยปีก่อนไทยมีการส่งออกไปสหรัฐ 172,380 ล้านบาท แต่นำเข้า เพียง 44,150 ล้านบาท”
นายพจน์ กล่าวถึงกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษี มีจำนวน 38 รายการ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐ มูลค่าส่งออก 172,380 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามนระดับความรุนแรงของผลกระทบ กลุ่มที่ 1.กระทบมากที่สุด จำนวน 18 รายการ คือ กุ้งแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งปรุงแต่ง ข้าวพร้อมทาน ขนมปังกรอบ บะหมี่ พาสต้า น้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด ผัก ผลไม้กระป๋อง กะทิสำเร็จรูป ซอส เครื่องปรุง และอาหารสัตว์เลี้ยง
2.กระทบปานกลาง จำนวน 10 รายการ คือ มะพร้าว ทุเรียน มะขาม แป้งมัน แป้งข้าว กลูโคส น้ำเชื่อมกลูโคส น้ำตาลมะพร้าว เครื่องดื่มที่มีน้ำมะพร้าวหรือน้ำผลไม้ผสม และเครื่องดื่มชูกำลัง และ3.กระทบน้อย จำนวน 10 รายการ คือ แมลง-จิ้งหรีด น้ำผึ้ง ถั่วเขียว กระเทียม ขิง พริกไทย เครื่องเทศอื่นๆ น้ำมันรำข้าว น้ำมะพร้าว และขนมที่ทำจากช็อกโกแลต
นายพจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชาชนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและอาหารมากถึง 30 ล้านคน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยจะต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐ โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าบางรายการให้กับสหรัฐเพิ่มเติม แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรในประเทศ
โดยกลุ่มสินค้าที่สหรัฐ อาจต้องการให้ไทยนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ปลาทะเล นมผง วัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งในกลุ่มนี้สามารถทำได้จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรของไทย เนื่องจากเป็นเป็นสินค้าจำเป็นต่อบริโภคและใช้ในการแปรรูปของไทย แต่กลุ่มสินค้าที่น่าเป็นห่วงที่สหรัฐ พยายามกดดันให้ทุกประเทศเปิดตลาดมากขึ้น คือกลุ่ม ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซึ่งจะกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ โดยที่ผ่านมาสหรัฐ ได้ใช้พยายามเปิดตลาดเนื้อสัตว์ในหลายประเทศมาอย่างต่อเนื่องทั้งในอาเซียน รวมถึงเอเชียตะวันออก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยยังคงมีปัญหาภายในรุมเร้า ทำให้สามารถกำลังการผลิตได้เพียง 25% เท่านั้น เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงานอย่างหนัก ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งเปิดนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาแปรรูปเพื่อการส่งออกโดยเร็ว อาทิ ข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของอาหารสัตว์, สัตว์น้ำ เพื่อแปรรูปส่งออก รวมทั้งต้องเร่งลดต้นทุนให้กับภาคการผลิต เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ และนำ AI มาใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้กับสินค้าเกษตรไทย