บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนประจำสัปดาห์ (14-18 ก.ย. 2563) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามทิศทางค่าเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ซึ่งมีแรงหนุนจากข่าวการพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 ขณะที่เงินดอลลาร์ เผชิญแรงขายตามการส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน และยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นเวลานานของธนาคารกลางสหรัฐ ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ (อาทิ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านที่หดตัวลง) ก็อ่อนแอกว่าที่คาดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับจังหวะการซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน ในวันศุกร์ (18 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.10 เทียบกับระดับ 31.33 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.80-31.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญในประเทศ ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมือง ผลการประชุม กนง. (23 ก.ย.) และตัวเลขการส่งออกเดือนส.ค. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ย. (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน ประเด็น BREXIT และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ประจำเดือนก.ย. ของ PBOC

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,288.39 จุด เพิ่มขึ้น 0.66% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 46,604.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.02% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.12% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 310.58 จุด

หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายในหุ้นกลุ่มธนาคารและวัสดุก่อสร้าง ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา รับข่าวที่ครม. มีมติอนุมัติหลักการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ รวมถึงความหวังเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ลดช่วงบวกลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (แม้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำนานขึ้น) รวมถึงสัญญาณระมัดระวังระหว่างรอประเมินสถานการณ์การเมืองในประเทศ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,270 และ 1,250 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,295 และ 1,310 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (23 ก.ย.) ประเด็นการเมืองในประเทศ การพิจารณามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนส.ค. รวมถึงดัชนี PMI Composite เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.ย. ของจีน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน