บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (11-15 ม.ค. 2564) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบ แต่ขยับแข็งค่าเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ มีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ประกอบกับมีแรงซื้อดอลลาร์ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางปัญหาทางการเมืองภายในของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยลดช่วงอ่อนค่าและกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังประธานเฟดยังคงส่งสัญญาณเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ จะยังไม่ปรับขึ้นในเร็วๆ นี้ ในวันศุกร์ (15 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.02 เทียบกับระดับ 30.07 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ม.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐ ซึ่งมีจุดสนใจอยู่ที่พิธีสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ (20 ม.ค.) สัญญาณการระบาดของโควิด-19 ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจจากเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนม.ค. 2564 ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนธ.ค. 2563 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขการส่งออกเดือนธ.ค. 2563 ของไทย ผลสำรวจ PMI เบื้องต้นของสหรัฐ ยูโรโซน และอังกฤษในเดือนม.ค. 2564 รวมถึงข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/63 และตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ เดือนธ.ค. 2563 ของจีนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยร่วงลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,519.13 จุด ลดลง 1.13% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 97,857.15 ล้านบาท ลดลง 17.52% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.49% มาปิดที่ 349.47 จุด หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ ระหว่างประเมินสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ก่อนจะทยอยปรับตัวขึ้นในช่วงต่อมาขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ดี หุ้นไทยร่วงลงในเวลาต่อมาตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับการทบทวนหลักเกณฑ์ฟรีโฟลท ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีน เข้ามาลดทอนแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ของนายโจ ไบเดน ในช่วงปลายสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ม.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,485 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,550 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 มาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2563 ของบจ. ไทยโดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. 2563 และดัชนี PMI Composite เดือนม.ค. 2564 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2563 ของจีน การประชุม BOJ และ ECB รวมถึงดัชนี PMI Composite เดือนม.ค. 2564 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน