บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (22-25 ก.พ. 2564) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทขยับกลับมายืนในฝั่งอ่อนค่ากว่าแนว 30.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ท่ามกลางความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี แรงหนุนของเงินดอลลาร์ ชะลอลงบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ตามสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินจากถ้อยแถลงของประธานเฟด แต่เงินบาทก็กลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่บันทึกยอดขาดดุลในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ในวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.12 เทียบกับระดับ 29.99 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 29.80-30.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ. และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนม.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจยังรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,496.78 จุด ลดลง 0.25% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 99,088.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.40% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.40% มาปิดที่ 379.07 จุด

หุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ โดยหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับแรงขายในตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนี SET ดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟด ก่อนจะเผชิญแรงขายอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ขานรับถ้อยแถลงของประธานเฟด ที่ระบุจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง แต่กรอบการปรับขึ้นถูกจำกัดจากการปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยของดัชนี MSCI ซึ่งมีผลในวันที่ 25 ก.พ.

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,480 และ 1,460 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,525 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรรวมถึงอัตราการว่างงานเดือนก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนก.พ. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. และยอดค้าปลีกเดือนม.ค. ของยูโรโซน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน