สรุปภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ดัชนี SET Index ปิดตลาดที่ 1,559.21 จุด ลดลง -0.18 จุด (-0.01%) มูลค่าการซื้อขาย 56,962.88 ล้านบาท

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้จะเห็นได้ว่าภาพรวมตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยหลายตลาดมีการฟื้นขึ้นมาในช่วงการซื้อขายภาคบ่าย เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย ส่วนหนึ่งเพราะตลาดได้ตอบรับปัจจัยลบไปพอสมควรแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

ประกอบกับตลาดหุ้นในสหรัฐปิดทำการเพื่อชดเชยวันจูนทีนธ์ และจะเปิดทำการซื้อขายในวันถัดไป ทำให้อย่างน้อยนักลงทุนคลายความกังวลลงได้บ้าง เพราะช่วงก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นสหรัฐ มีความผันผวนสูง โดยบวกแรงลงแรง

ซึ่งก็ทำให้หุ้นไทยหลายๆ ตัวมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นมาได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศ เช่นหุ้นท่องเที่ยวหลายตัวฟื้นค่อนข้างแรง และหุ้นกลุ่มที่ถูกผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และเริ่มมีสัญญาณลง เช่น หุ้นกลุ่มไฟฟ้า อาทิ BGRIM และ PGSC เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับสูงขึ้นไปค่อนข้างมาก ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันราคาพลังงานเริ่มปรับลดลง รวมทั้งค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) ในอนาคตมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ ทำให้นักลงทุนอาจประเมินว่าสถานการณ์ได้ผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว

โดยหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับ
1.PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 2,695.23 ล้านบาท -4.00 บาท (-2.46%)
2. SCB มูลค่าการซื้อขาย 2,653.82 ล้านบาท -3.00 บาท (2.83%)
3.AOT มูลค่าการซื้อขาย 1,928,.9 ล้านบาท +1.50 บาท (+2.21%)
4. KBANK มูลค่าการซื้อขาย 1,870.49 ล้านบาท -1.50 บาท (-1.00%)
5.CPALL มูลค่าการซื้อขาย 1,861.39 ล้านบาท +0.25 บาท (+0.42%)

นายกิจพณ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของหุ้นที่ปรับตัวลงค่อนข้างแรง ซึ่งจะเห็นว่าเป็นหุ้นที่เกี่ยวพันกับบิตคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะหุ้นธนาคารบางแห่ง เนื่องจากผลประกอบการไตรมาส 2 ที่กำลังจะทยอยประกาศในเร็วๆ นี้ มีแนวโน้มจะชะลอตัวลง

ขณะเดียวกันนักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้นด้วยว่าปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ต่างๆ ที่เริ่มเห็นธนาคารมีเอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันให้ผลประกอบการของธนาคารลดลง ทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์

แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่อย่าง BBL ปรับตัวลดลงน้อยกว่าธนาคารอื่น เนื่องจากมองว่าหนี้เสียรอบนี้จะมาจากธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ในขณะที่หุ้น SCB จะเห็นว่าปรับลงแรงหรือประมาณ 3% โดยที่ยังไม่ข่าวชัดเจนว่ามาจากสาเหตุใด

แต่ในมุมมองนักกลยุทธ์เห็นว่า SCB มีความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่ามีแผนการลงทุนในบิตคัพ ซึ่งปัจจุบันคงต้องจับตาว่าแผนการร่วมทุนจะยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่ ทั้งที่ขณะนี้สินทรัพย์ดิจิทัลหลายตัวปรับลดลงมาค่อนข้างมากแล้ว รวมถึง SCB ยังมีบริษัทย่อยหลายแห่ง ที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะรับรู้การด้อยค่าหรือการขาดทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับในการประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2 หรือไม่ แต่ทั้งนี้ การขาดทุนดังกล่าวก็ไม่ถึงกับส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นทำให้ธนาคารล้ม เนื่องจากขนาดของเงินลงทุนส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในระดับแค่พันล้านบาท

“ภาวะตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นอาจมีการฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อย หลังจากปรับลงไปค่อนข้างแรงในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็เป็นการฟื้นตัวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกยังมีความกังวลเรื่องผลประกอบการในไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 3 ปีนี้อาจชะลอตัวลง จากผลกระทบของราคาต้นทุนด้านพลังงานที่สูงและดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นเร็ว ทำให้หุ้นหลายกลุ่มมีความเสี่ยง”


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน