ธนาคารแห่งประเทศไทยศึกษาตั้งสกุลเงินดิจิตอลใช้เอง ช่วยลดต้นทุนโอนจ่ายระหว่างบุคคล ไม่ผ่านบัญชีธนาคารเหมือนในปัจจุบัน ย้ำใช้สกุลเงินเฟซบุ๊กในไทยเป็นเรื่องยาก

แบงก์ชาติเล็งตั้งสกุลเงินดิจิตอล – น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. อยู่ระหว่างศึกษาการใช้เงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง (ซีบีดีซี) เพื่อนำมาใช้โอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล ไม่ผ่านบัญชีธนาคารเหมือนในปัจจุบัน โดยหลักการเบื้องต้นจะมีแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นในลักษณะกระเป๋าเงิน หรือ วอลเลต และตั้งตัวกลางกระจายเงินแต่วิธีใช้ต้องโอนตรงบุคคล และเพื่อเพิ่มทางเลือกในการโอนเงินให้ประชาชน

“แนวคิดนี้ธนาคารกลางต้องมีความเตรียมพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังต้องใช้เวลาศึกษาค่อนข้างนาน เพราะจะต้องดูผลกระทบกับธุรกิจธนาคาร การบริหารสภาพคล่องธนาคาร เสถียรภาพระบบการเงินและภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วย”น.ส.วชิรา กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีตัวกลางเพื่อคอยดูเงินที่โอนว่าติดขัด ขัดข้องประการใด เช่น นายเอ โอนเงินให้นายบี แต่ระบบเกิดล่ม ทำให้จะต้องมีคนมาดูแลส่วนนี้ ซึ่ง ธปท. จะเห็นข้อมูลทั้งหมด แต่ไม่ได้มาทำธุรกรรมกับประชาชน ยืนยันไม่ได้มาแข่งขันกับธุรกิจธนาคาร และที่สำคัญซีบีดีซีที่ใช้กับประชาชนต้องมีความปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ โดยมองว่าจะช่วยลดต้นทุนและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย

สำหรับซีบีดีซีที่ ธปท. ได้เริ่มทดลองทำไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอินทนนท์ หลังจากเริ่มทำการโอนเงินระหว่างธนาคารกับธนาคารสำเร็จแล้ว และขณะนี้กำลังทดลองใช้ในภาคธุรกิจกับคู่ค้าของบริษัท นำร่องบมจ.ปูนซิเมต์ไทย รวมทั้งธปท. ทดสอบโอนเงินข้ามประเทศกับธนาคารกลางฮ่องกง คาดจะได้ข้อสรุปการทดลองทั้งภาคธุรกิจและธนาคารกลางฮ่องกงได้ในปีนี้ เพื่อนำไปออกแบบใช้ต่อยอดกับรายย่อยต่อไป

น.ส.วชิรา กล่าวว่า ซีบีดีซีจะแตกต่างจากสกุลเงินดิจิตอล (คริปโตเคอเรนซี่) ทั่วไป เพราะราคาจะคงที่ไม่ผันผวนเหมือนกับบิตคอยน์ และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งเงินบาทที่เป็นดิจิตอลนี้สามารถนำมาทดแทนการใช้ธนบัตร แต่การนำมาใช้กับประชาชนจะต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อดูผลกระทบต่างๆ และต้องใช้เวลาสักพักในการทดลองก่อนเพราะถือเป็นเรื่องใหญ่

ส่วนการพูดคุยกับเฟซบุ๊กในเรื่องของเงินดิจิทัลลิบร้าที่ผ่านมา มองว่าทำให้ธนาคารกลางตื่นตัว แต่คงเป็นไปได้ยากและคงไม่ง่ายที่จะเข้ามาใช้ลิบร้าในไทย เพราะหากเฟซบุ๊กจะนำเข้ามาต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งต้องมาดูว่าจะตีความสกุลเงินลิบร้าไว้เป็นประเภทใด โดยถ้าหากไม่เข้าเกณฑ์จะไม่สามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน