ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดในการประชุมกนง. เดือนส.ค.นี้ จะหั่นดอกเบี้ยเหลือ 0.25% – ชี้ทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเร็วและต่อเนื่อง

สแตนชาร์ดคาดกนง.หั่นดอก – นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า คาดการณ์การประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนส.ค.นี้ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.25% จาก 0.50% ในปัจจุบัน ขณะที่มองแนวโน้มค่าเงินบาทล่าสุดซึ่งอยู่ที่ 31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าสุดในภูมิภาคเอเชีย เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจของไทย และการพบโควิด-19 ระลอก 2 ในจ.ระยอง แต่อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลควบคุมโควิดได้ มองว่าค่าเงินบาทในปลายปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันธนาคารยังคงเป้าหมายเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ -5% โดยมองว่าไตรมาส 2 จะติดลบมากที่สุด -13% ส่วนไตรมาส 3 ติดลบ -1% และไตรมาส 4 ที่ระดับ 0% ซึ่งจากแนวโน้มเศรษฐกิจดังกล่าวสนับสนุนให้การลดอัตราดอกเบี้ยยังมีความจำเป็นอยู่

ส่วนความคิดเห็นต่อสถานการณ์แนวโน้มหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล จะสูงขึ้นหรือไม่ โดยขณะนี้ยังมองไม่ชัดเจนเนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงพักชำระหนี้ต่อเนื่องถึงปลายปีนี้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเข้ามาของทีมเศรษฐกิจใหม่ด้วยว่าจะมีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่อจากทีมเก่าหรือไม่ รวมถึงการแก้ปัญหาของโควิด-19 ที่จ.ระยอง จะคลี่คลายได้เร็วหรือไม่

อย่างไรก็ดี ข้อกังวลที่จะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือปีนี้ กล่าวโดยสรุปได้ 5 ข้อ 1. การเมืองมีความกังวลเล็กน้อย โดยเฉพาะการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่แม้ว่าวันนี้ยังไม่เห็น แต่อย่างไรก็ดีท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีความท้าทายสูงในขณะนี้ มองว่าทีมเศรษฐใหม่ที่จะเข้ามาต้องมีความเร็วและสามารถรับช่วงการบริหารเศรษฐกิจต่อจากทีมเก่าได้อย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ไม่มีเวลาแล้ว

“จะเห็นได้ว่า วันนี้ตลาดตอบรับต่อรายชื่อทีมเศรษฐกิจใหม่ จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงถึง 31.70 บาท โดยอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค แต่อย่างไรก็ดี อาจไม่ใช่เพราะรายชื่อบุคคลที่จะเข้ามาบริหารเศรษฐกิจ เพียงแต่ตลาดอาจกังวลเรื่องความไม่ต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่อาจทำได้ไม่ 100% เช่นการลงทุนโครงการใหญ่ๆ อาทิ โครงการอีอีซี โครงการขนส่งขนาดใหญ่ต่างๆ จะเดินหน้าต่อหรือไม่ รวมถึงความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่มาตรการเดิมหมดอายุลงจะขาดช่วงไปนานหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ หรือการเยียวยาต่างไป และความต่อเนื่องของงบประมาณปี 2564 ที่อาจจะล่าช้าหากทีมเศรษฐกิจยังไม่ลงตัว ซึ่งเกิดขึ้นแล้วจากงบประมาณปีก่อนที่ล่าช้าไป 4-5 เดือน”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในส่วนที่ 2. ตลาดการเงิน มองว่าสถานการณ์ไม่น่าจะหนักเท่าช่วงเดือนมี.ค. แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องหนี้ที่ครบกำหนดของสายการบินแห่งชาติและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น 3. เรื่องดอกเบี้ยในเดือนส.ค.ที่คาดว่าจะปรับลดลงเหลือ 0.25% 4. ความกังวลต่อการอ่อนค่าของเงินบาท อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจและการกลับมาของโควิด-19 ในจ.ระยอง แต่ถ้าหากผ่านพ้นด้วยดี อยากให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าในระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปลายปีนี้ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว และ 5. อยากให้ธปท. ประกาศนโยบายการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือคิวอี รวมถึงมีการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control) ซึ่งจะสามารถนำมาแทนที่สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำได้

นายทิม ยังกล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของลูกค้านักลงทุนของธนาคารและผู้บริหารกองทุนต่างๆ ในประเด็นคำถามที่อยากฟังจากผู้ว่าธปท. พบว่า ประเด็นแรกอยากได้ความชัดเจนว่า ธปท. จะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือคิวอี หรือไม่ รวมถึงจะมีการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control) เพื่อมาแทนที่อัตราดอกเบี้ยต่ำได้หรือไม่ รวมถึงประเด็นการแยกการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและราคาทองคำไม่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจะทำได้หรือไม่ และสุดท้ายคือ ดอกเบี้ย 0% หรือติดลบ จะมีความเป็นไปได้ขนาดไหน ที่จะเกิดขึ้นกับตลาดการเงินในประเทศไทย

ขณะที่ประเมินความเหมาะสมในการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในลักษณะ จับคู่ท่องเที่ยว หรือ Travel Bubble ดีสุดคือต้นปี 2564


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน