เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุม จัดสรร และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีเนื้อที่ 119 ล้านไร่ จึงทำให้การใช้น้ำสาธารณะไม่มีการคุ้มครองสิทธิการใช้น้ำ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะคุ้มครองสิทธิการใช้น้ำให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

นายวรศาสน์ กล่าวต่อว่า โดยมาตรา 39 มีการกำหนดประเภทการใช้น้ำไว้ 3 ประเภท ได้แก่ การใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งการใช้น้ำตามจารีตประเพณี ซึ่งเป็นการใช้น้ำของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ต้องขออนุญาตและไม่เสียค่าใช้น้ำ การใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้น้ำในปริมาณมากเพื่อการอุตสาหกรรมหรือการเกษตรเพื่อการพาณิชย์ การประปาสัมปทานการท่องเที่ยว และ การใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้น้ำในปริมาณมากที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรือส่งผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ จึงจำเป็นต้องขออนุญาตใช้น้ำโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

“ทั้งนี้ตามร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดว่า ในการจัดสรรน้ำและการอนุญาตใช้น้ำให้คำนึงถึงการใช้น้ำประเภทที่ 1 และการใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์เป็นลำดับแรก ในกรณีที่มีการเก็บค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการลุ่มน้ำในการพิจารณา โดยต้องคำนึงถึงต้นทุนในการผลิตและการจัดหาน้ำ ปริมาณความขาดแคลนหรือค่าเสียโอกาสในการนำน้ำไปใช้ ตลอดจนประโยชน์ต่อสังคม และการเก็บค่าใช้น้ำประเภทที่ 2 และ 3 สามารถยกเว้นการเก็บค่าน้ำกรณีผลผลิตไม่ดีหรือขาดทุน ตามมาตรา 47” นายวรศาสน์ กล่าว

อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าวอีกว่า กฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนเกษตรกรนอกเขตชลประทานให้สามารถเข้าถึงน้ำได้เป็นลำดับแรก และไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำแต่อย่างใด ทั้งนี้ภายหลังกฎหมายผ่านสภาแล้ว จำเป็นจะต้องศึกษารายละเอียดให้เหมาะสมและต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 39 ต่อไป จึงขอให้ทุกภาคส่วนติดตามความก้าวหน้า และร่วมให้ความเห็นในการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ทางเว็บไซต์กรมฯน้ำ www.dwr.go.th หรือโทร 02-271-6000 ต่อ 0 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้สร้างภาระแก่ประชาชนแต่อย่างใด แต่จะเป็นการปิดช่องว่างของการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1355 และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 57 มาตรา 72(4) และมาตรา 258 ช(1)

เมื่อถามว่ากรณีที่พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … สั่งให้กรมฯน้ำ ทบทวนมาตรา 39 ให้รอบคอบและชัดเจน จะดำเนินการอย่างไร อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ทรัพยาน้ำแห่งชาติ ถือเป็นกฎหมายแม่ ซึ่งการจะสั่งให้ทบทวนมาตรา 39 นั้น ต้องรอให้กฎหมายแม่ออกมาก่อนเพื่อให้มีขอบเขตของกฎหมายที่ชัดเจน จากนั้นภายใน 180 วันหรือ 6 เดือน จึงจะออกกฎหมายลูกในมาตรา 39 ได้ ซึ่งหลักสำคัญคือต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลัก ตนไม่สามารถตอบแทนประชาชนได้ว่าอัตราที่เหมาะสมต้องอยู่ที่ราคาเท่าไร โดยอัตราการเก็บค่าน้ำที่ระบุไปนั้นเป็นเพียงตัวเลขที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำการศึกษาวิจัยไว้เมื่อปี 2551 ซึ่งขณะนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว ต้องไปคำนวณอัตราการเก็บค่าน้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อถามต่อว่าประชาชนมีข้อกังวลว่า ถึงแม้จะไม่ได้เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย แต่เก็บค่าน้ำในกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็อาจส่งผลให้ผลผลิตหรือต้นทุนมีราคาที่สูงขึ้น สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนอยู่ดี อธิบดีกรมฯน้ำ ตอบว่า การที่ออกกฎหมายลูกจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภท 2 และ 3 ที่เข้าข่ายต้องเสียค่าน้ำนั้น ก็ต้องไปสอบถามว่าอัตราเก็บค่าน้ำควรอยู่ที่เท่าไร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตหรือต้นทุน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคประชาชนในวงกว้างอย่างที่เป็นกังวลกัน

“กระแสต่อต้านของกฎหมายน้ำ คือ ความไม่เข้าใจในเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้อย่างแท้จริง ตั้งแต่คำว่าน้ำสาธารณะแล้ว ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิการเข้าถึงน้ำของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่นอกชลประทาน ไม่ให้ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างที่ผ่านมา เป็นการคุ้มครองแหล่งน้ำสาธารณะให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องอัตราการเก็บน้ำไม่อยากให้ประชาชนเป็นกังวล เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนก่อนจะออกเป็นกฎกระทรวงอย่างแน่นอน”อธิบดีกรมฯน้ำ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน