คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย : พระนอนที่โคราช

พระนอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย พระนอนหินทรายศิลปะทวารวดี ยาว 13.30 เมตร สูง 2.80 เมตร ที่ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ที่มีอายุกว่า 1,300 ปี

ปัจจุบันยังคงประดิษฐาน ณ ที่เดิม ในบริเวณวัดชื่อวัดธรรมจักรเสมาราม

ณ บริเวณวัดแห่งนี้ยังมีวัตถุทางศาสนาที่อยู่ในยุคทวารวดีนี้อีกหลายชิ้น เช่น รูปเสมาธรรมจักร พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระพิมพ์ดินเผา เป็นต้น

วัดเสมาธรรมจักรนี้อยู่ในเขตเมืองโบราณ คือ เมืองเสมามีปราสาทหินเก่าสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดเสมาธรรมจักร จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เมืองเสมาต้องเป็นเมืองชุมชนขนาดใหญ่ มีพลังทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองที่ทำให้เกิดศาสนสถานขนาดใหญ่โต

องค์พระนอนหินทรายขนาดใหญ่จึงเป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงความสำคัญของชุมชนเมืองในบริเวณนี้ และขณะเดียวกันย่อมแสดงถึงศรัทธาของผู้คนต่อพระพุทธศาสนาในพื้นที่

องค์พระนอนเป็นพระนอนปางปรินิพพาน พระเศียรไปทางทิศใต้ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แต่มิได้ใช้คติของการเข้าสู่นิพพานของพระพุทธเจ้าที่การสร้างพระนอนปางปรินิพพาน ที่จะต้องหันพระเศียรไปทางทิศเหนือและหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

แต่สิ่งที่เห็นว่าเป็นปางปรินิพพานก็คือ การที่มีพระอุโบสถเล็กๆ อยู่ที่ปลายพระบาท มีเสมาธรรมจักรหินทรายล้อมพระอุโบสถนั้น อันมีความหมายถึงการปริพาชก (ผู้คนในศาสนาอื่น) นามสุภัททะได้รับอนุญาตจากพระพุทธเจ้าให้พระอานนท์เป็นผู้อุปสมบทให้เป็นพระภิกษุองค์สุดท้ายในกาลสมัยที่พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน

โดย “ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์”


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน