เบาหวานในเด็ก หมอชี้อายุน้อยก็ป่วยได้

เบาหวานในเด็ก – วันที่ 14 พ.ย. ของทุกปี ตรงกับวันเบาหวานโลก แม้โรคเบาหวานจะพบมากในคนสูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก

พญ.นิภาพรรณ จรดล กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคเบาหวานที่พบในวัยเด็กและวัยรุ่นแบ่งได้ 3 ชนิด 1.โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วยทำลายเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน จึงทำให้มีภาวะขาดอินซูลินตามมา 2.โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน และ 3.โรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่น ได้แก่ ภาวะความ ผิดปกติของสารพันธุกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาของตับอ่อน การติดเชื้อ รวมถึงยาบางชนิด

โดยเบาหวานชนิดที่พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น ส่วนใหญ่เกิดจากเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งสาเหตุการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากภาวะความเสี่ยงทางพันธุกรรม และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ร่วมกับปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อน

เบาหวานในเด็ก หมอชี้อายุน้อยก็ป่วยได้

พญ.นิภาพรรณ จรดล

อาการของเด็กที่พบว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากมีภาวะขาดอินซูลินจึงไม่สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าไปใช้เป็นพลังงานในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆ มีภาวะขาดน้ำตาลหรือพลังงาน ร่วมกับการมีน้ำตาลสูงในกระแสเลือด

ในระยะแรกของโรคเด็กๆ จะมีอาการอ่อนเพลียง่าย รับประทานอาหารและน้ำมากขึ้น แต่น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง มีปัสสาวะมากกว่าปกติ หากไม่ได้รับการรักษาร่างกายจะมีการสลายพลังงานสะสมในร่างกายซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน ที่เรียกว่าภาวะ “ดีเคเอ” (DKA : diabetic ketoacidosis) ตามมา

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หอบเหนื่อย ซึมลงจากภาวะสมองบวม รวมทั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

โดยแพทย์ต้องอาศัยการซักประวัติอาการ ร่วมกับการเจาะตรวจน้ำตาลในเลือด เมื่อพบแน่ชัดว่าเป็นโรคเบาหวาน จะรักษาด้วยการให้อินซูลินทดแทนโดยฉีดเข้าชั้นไขมันวันละ 3-4 ครั้ง หรือผ่านเครื่องจ่ายอินซูลินเข้าร่างกายอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้วเพื่อช่วยในการปรับยาอินซูลินให้เหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายจากภาวะน้ำตาลสูงและน้ำตาลต่ำระหว่างการรักษา

นอกจากนี้ อาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะไม่ได้เน้นการจำกัดพลังงานดังเช่นในเด็กที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ควรเป็นอาหารที่มีพลังงานและสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมตามวัยเพื่อให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

ทั้งนี้ เด็กที่เป็นเบาหวานอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้นเกิดได้จากภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมากร่วมกับมีเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนหรือ “ดีเคเอ” ซึ่งอาจเกิดจากการขาดอินซูลินหรือมีภาวะเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ

นอกจากนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งเกิดจากการได้รับยาอินซูลินในปริมาณที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน

การรักษาต้องใช้ทักษะในหลายๆ ด้านทั้งความรู้ด้านโภชนาการ การรักษาด้วยยาอินซูลินซึ่งเป็นยาชนิดฉีด และต้องมีการปรับยาตามอาหารและระดับน้ำตาลปลายนิ้ว จึงมีความจำเป็นที่เด็กจะต้องได้รับทั้งกำลังใจและความช่วยเหลือจากทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครองรวมถึงคุณครูเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสม

เพื่อให้เด็กๆ ที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีการเจริญเติบโตสมวัยและห่างไกลจากภาวะแทรกซ้อนอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน