เมรุนกหัสดีลิงค์ (ตอนจบ) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

เมรุนกหัสดีลิงค์ (ตอนจบ) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น – ฉบับวานนี้ (29 ม.ค.) “เกศทิพย์” เขียนมาว่า อยากได้ความรู้เกี่ยวกับเมรุรูปนกในวรรณคดี หัสดีลิงค์ เป็นมาอย่างไร เมื่อวานตอบไปส่วนหนึ่งแล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อ โดยนำข้อมูลมาจากคอลัมน์ข่าวสดพระเครื่อง เรื่องประเพณีการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์

เมรุนกหัสดีลิงค์

ศ.เกียรติคุณ อรรถ นันทจักร ผู้เชี่ยวชาญประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้รายละเอียดว่า การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ในภาคอีสานกลุ่มแรก คือกลุ่มพระวอ-พระตา ถือเป็นต้นเหง้าของสายเมืองอุบลราชธานีที่เคลื่อนย้ายครัวลาวที่ใหญ่ที่สุดมาอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน

เมรุนกหัสดีลิงค์

แต่ที่มีหลักฐานเด่นชัดเป็นช่วงรัชกาลที่ 5 ที่ได้ส่งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ปกครองมณฑลอุบลราชธานี ช่วงเวลาดังกล่าวมีกลุ่มอัญญาสี่ขึ้นนกหัสดีลิงค์ถึง 5 คน อาทิ หม่อมเจียงคำ พระอุบลการประชานิตย์ เป็นต้น ส่วนพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของสายเมืองอุบลราชธานีที่ได้ขึ้นนกหัสดีลิงค์มี 3 รูป คือ พระครูวิโรจน์รัตโนบล, พระอริยกวี (อ่อน ธัมมรักขิโต) เจ้าคณะใหญ่เมืองอุบลราชธานี เป็นต้น

การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ในภาคอีสานตามหลักฐานส่วนใหญ่ที่ทำกันอยู่ไม่กี่แห่ง อาทิ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เป็นต้น สำหรับการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ตัวแรกในพื้นที่ จ.มหาสารคาม เดิมค้นพบมี 2 ครั้ง คือ งานพระราชทานเพลิงพระครูพิทักษ์โกสุมพิสัย หรือหลวงตาโมง แสนศักดิ์ ณ เมรุวัดโพธิ์ศรี วันที่ 1 พ.ค. 2519 กับงานพระราชทานเพลิงพระ อริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี) ปราชญ์แห่งอีสาน วัดมหาชัย วันที่ 7 เม.ย. 2536

แต่หลักฐานใหม่ที่ค้นพบ ปรากฏว่าเคยมีการปลงศพ แบบนกหัสดีลิงค์มาก่อนหน้าแล้วครั้งหนึ่ง ในปี 2505 คือ งานพระราชทานเพลิง พระครูสุนทรสาธุกิจ หรือ หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ วัดติกขมณีวรรณ บ้านเสือโก้ก อ.วาปีปทุม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของมหาสารคาม หลักฐานสำคัญคือภาพถ่ายเก่าแก่ของงานพิธี

เมรุนกหัสดีลิงค์

ยังมีข้อมูลจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้รับผิดชอบการออกแบบและจัดสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกในพิธีพระราชทานเพลิง พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ โดย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวว่า สร้างเมรุลอยนกหัสดีลิงค์ตามประเพณีโบราณที่จัดขึ้นเฉพาะการฌาปนกิจเจ้านายชั้นสูง หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นความเชื่อที่เป็นตำนานของชาติพันธุ์ไทย ที่ไม่ใช่เพียงสยาม แต่ยังมีทั้งไทยล้านนา, ไทยลื้อ, ไทยดำ, ไทยแดง, ไทยด่อน ซึ่งจากงานวิจัยพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยเหล่านี้ เมื่อเจ้านายผู้ใหญ่สิ้นพระชนม์ หรือพระเกจิที่มีชื่อเสียงเหมาะสมเพียงพอสมณศักดิ์ ก็จะสร้างนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก และตามตำนานนั้นก่อนที่จะ เผาผู้วายชนม์จะต้องมีพิธีกรรมฆ่านกหัสดีลิงค์ และผู้ที่จะฆ่านก หัสดีลิงค์ได้คือนางสีดา

สำหรับตำนานของนกหัสดีลิงค์ เริ่มจากตํานานโบราณของ ตักกศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร เล่าขานกันมา เมื่อพระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ต้องเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง นกหัสดีลิงค์ที่เป็นนกขนาดใหญ่ ตัวโตเท่าช้าง เรียกชื่อตามเจ้าของภาษาว่า หัตถลิงคะสะกุโณ เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ เป็นนกที่มีหัวเป็นช้าง มีหางเป็นหงส์ มีพละกําลังดั่งช้างเอราวัณ 3-5 เชือกรวมกัน บินโฉบลงมาเอาพระศพไป

เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้นก็ประกาศให้คนดีเข้าต่อสู้เพื่อเอาพระศพคืนมา นางสีดาจึงเข้ารับอาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ โดยใช้ ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตาย ตกลงมาพร้อมพระศพ พระมหาเทวีจึงโปรดสั่งให้ช่างทําเมรุ คือหอแก้วบนหลัง นกหัสดีลิงค์ ถวายพระเพลิงพร้อมกับเผานกไปด้วยกัน จากนั้นมาจึงถือเอาประเพณีทํานกหัสดีลิงค์ประกอบเมรุของชั้นเจ้านาย ตามความเชื่อที่ว่านกหัสดีลิงค์จะนําดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน