ไม้จิก : รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติประชาชื่น

ไม้จิก – ไม้จิกที่ใช้ฌาปนกิจหลวงพ่อคูณ อยากรู้จักค่ะ

ศศิมา

ตอบ ศศิมา

คณะทำงานพิธีพระราชทานเพลิงพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เลือกใช้ไม้จิกในการเผา ด้วยเป็นไม้ที่มีความร้อนสูง

เว็บไซต์ www.thaihof.org มูลนิธิสุขภาพไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไม้จิกและพิธีประชุมเพลิงไว้ว่า ลูกหลานในภาคอีสานที่เติบโตใกล้ชิดกับวัดคงได้พบเห็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านมากมาย เวลาที่ท่านละสังขารและมีการจัดประชุมเพลิงตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น จะใช้ “ไม้จิก” ไม่ใช่ดอกไม้จันทน์ที่คนทั่วไปคุ้นเคย

ไม้จิก

ไม้จิก เป็นชื่อเรียกตามภาษาถิ่นอีสาน ในภาษาไทยกลางหรือชื่อเรียกทั่วไปคือ ไม้เต็ง ไม้จิก หรือ ไม้เต็ง มีชื่อสามัญว่า Burmese sal หรือ Siamese sal เมื่อมาพิจารณาที่มาของชื่อภาษาอังกฤษที่เป็นที่ยอมรับในสากล

คำว่า Burmese หมายถึงเมียนมาในปัจจุบัน ส่วนคำว่า Siamese หมายถึงประเทศสยามหรือไทย แสดงว่าพืชชนิดนี้พบที่พม่าและไทยเป็นครั้งแรกจึงตั้งชื่อตามสถานที่ที่พบ ส่วนคำว่า sal ค่อนข้างน่าฉงนกับคำนี้ เนื่องจาก sal หมายถึง salt หรือเกลือ การใช้ sal กับชื่อต้นไม้ของคนในสมัยก่อนอาจหมายถึงว่าไม้ชนิดนี้เมื่อเผาแล้วจะได้ถ่านที่มีสีขาวเหมือนเกลือ คงไม่ได้หมายถึงว่าขึ้นอยู่ใกล้ทะเลหรือเจริญได้ดีในที่ดินเค็ม

ไม้จิก

ไม้จิก หรือ ไม้เต็ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea obtuse Wall. ex Blume อยู่ในวงศ์เดียวกับไม้ยางนา (Dipterocarpaceae) ต่างจาก ต้นจิก ของชาวภาคกลาง ที่อยู่ในวงศ์ Lecythidaceae สกุล Barringtonia ซึ่งมีอยู่ 12 ชนิดในประเทศ และทั้งหมดเป็นไม้เนื้ออ่อน ขณะที่ไม้จิกเรียกตามภาษาอีสานหรือไม้เต็ง เป็นไม้เนื้อแข็ง

เมื่อนำไปเผาไหม้จะให้พลังงานความร้อนสูง เคยมีนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ทดสอบเนื้อไม้ต่างๆ เกือบ 50 ชนิด เพื่อดูว่าเมื่อนำไปก่อไฟต้มน้ำภายใน 1 นาที ไม้ชนิดใดให้ความร้อนสูงสุด คำตอบคือไม้จิกหรือไม้เต็ง

เมื่อมีการเผาศพ หากใส่ไม้จิกหรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ลงไปจะให้พลังงานความร้อนได้ดีมากๆ และพบว่าเมื่อแคลเซียมหรือกระดูกถูกเผาในความร้อนที่สูงๆ ประมาณว่าสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส จะทำให้แคลเซียมเป็นผลึกได้ ไม้จิกหรือไม้เต็งเป็นไม้เนื้อแข็งที่จุดไฟแล้วให้พลังงานความร้อนสูงอย่างรวดเร็ว และยิ่งมีปริมาณมากจากที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาร่วมพิธีประชุมเพลิง ก็เป็นเชื้อไฟให้พลังงานความร้อนที่ดีมากๆ

ไม้จิก

ที่สงสัยว่าทำไมต้องเป็นไม้จิก เพราะยังมีไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ คำตอบคือ ไม้จิกเป็นไม้ที่หาได้ง่าย จัดว่าเป็นไม้เด่นในป่าเต็งรังที่ในป่าภาคอีสานยังมีอยู่มาก เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม้จิกมีจำนวนประชากรในป่ามาก เพราะไหลหรือรากของต้นจิกที่ทอดชอนไชไปตามใต้ดิน และถ้าทำให้เกิดแผลจะทำให้เจริญเป็นต้นใหม่ได้ไม่ยาก ในภาคอีสานมีป่าเต็งรังไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ ประชาชนจึงใช้ไม้ชนิดนี้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวัน

นอกจากจะใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว ขี้ซี หรือน้ำยางที่เกิดจากแผลบริเวณลำต้น เมื่อแห้งแล้วเป็นสีเหลือง ยังใช้เป็นชันยาตะกร้าที่สานด้วยไม้ไผ่เพื่อใช้เป็นคุหรือถังตักน้ำ หรือทำเป็นชันยาเรือ การเก็บขี้ซีหรือน้ำยางจากต้นจิกส่วนใหญ่เป็นงานของเด็กหรือวัยรุ่น เพราะขี้ซีหรือน้ำยางจากต้นจิกมักจะอยู่ตามลำต้นที่สูงจากพื้นดินมาก ต้องใช้หนังสติ๊กยิงให้ร่วง ลงมา

ในชีวิตประจำวันของคนอีสานมักใช้ไม้จิกเป็นสมุนไพรด้วย คนที่แพ้ไม้น้ำเกี้ยงหรือไม้กินคน ทำให้ผิวหนังพุพอง แสบ คัน ให้ใช้ยางจากนางไม้จิก (กิ่งไม้จิกที่ยังอ่อนอยู่หรือเกิดใหม่) ทาแผล ส่วนของดอกจิกใช้เข้ายาฟอกเลือด แก่นใช้เข้ายารักษาโรคฟกช้ำกระดูก (เกิดการฟกช้ำ บวมตามร่างกาย ผอมแห้ง มีอาการไอร่วมด้วย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ)

นอกจากนี้ แก่นยังใช้เข้ายาแก้มูกเลือด (ถ่ายเป็นเลือด) ส่วนของเปลือกใช้เข้ายาแก้เลือดขึ้นหัว (เป็นอาการที่เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือภาวะที่ทำให้มีเลือดคั่งในหัว รากจิกใช้เข้ายาแก้ริดสีดวงงอกและขี้ซีจากไม้จิกใช้เข้ายาแก้ฝีชนิดต่างๆ

ปัจจุบันป่าถูกเปลี่ยนสภาพ ทำให้ประชากรไม้จิกลดลง

  • อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมรุนกหัสดีลิงค์ (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

เมรุนกหัสดีลิงค์ (ตอนจบ) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน