ประชุมสภาผู้แทน ครั้งแรก 2475

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ

ประชุมสภาผู้แทน ครั้งแรก 2475 : รู้ไปโม้ด – การประชุมสภาผู้แทนฯครั้งแรก มีขึ้นเมื่อไหร่ครับ

ชาวชุมแพ

ตอบ ชาวชุมแพ

คำตอบนำมาจากบทความ การประชุมสภา ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า การประชุมสภาไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน พ.. 2475 เวลา 14.00 นาฬิกา โดยกำหนดให้ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ประชุม มีการจัดโต๊ะเป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว

การประชุมครั้งแรกเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมได้เลือก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

ต่อมาเมื่อมีพฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2489 ขึ้นมาอีกสภาหนึ่ง จึงได้กำหนดให้ใช้พระที่นั่งอภิเษกดุสิตเป็นที่ประชุมพฤฒสภา ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และใช้เป็นที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และเมื่อเปลี่ยนจากพฤฒสภาเป็นวุฒิสภาในปี 2490 แล้ว ได้กำหนดให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมวุฒิสภาเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากนั้นในปี 2514 ดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แล้วเสร็จในปี 2517 จึงได้เปลี่ยนมาประชุมสภา ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และเปิดการประชุมเป็นครั้งแรกในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 ครั้งที่ 67 ในวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2517 และได้ใช้ห้องประชุมของอาคารรัฐสภาแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ยังมีรายละเอียดจากวิกิพีเดียว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยตามความในมาตรา 10 ได้บัญญัติให้คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวเป็นจำนวน 70 นาย เป็นสมาชิกในสภาจนกว่าสมาชิกในสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่ง นับว่าประเทศสยามมีผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

เมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.. 2475 เวลา 14.00 นาฬิกา การประชุมเริ่มขึ้น ณ ห้องโถงชั้นบนพระที่นั่งอนันตสมาคม มีการจัดโต๊ะเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว เนื่องจากยังไม่มีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงใช้ข้อบังคับการประชุมของสภากรรมการองคมนตรีเฉพาะที่ไม่ขัดกับธรรมนูญมาใช้ไปพลางก่อน

ประชุมสภาผู้แทน ครั้งแรก 2475

ประชุมสภาผู้แทน ครั้งแรก 2475

ผู้แทนราษฎรที่ได้รับแต่งตั้งชุดแรก จำนวน 70 คน ได้กล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมมีความว่า “ข้าพเจ้า (ออกนามผู้ปฏิญาณตน) ขอให้คำปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎร และจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย

เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง, จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก, จะต้องรักษาความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ

โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก, จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่, จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

ต่อมาเจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเปิดประชุมว่า

“วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยกันปรึกษาการงานเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความเป็นอิสรภาพของสยามไว้ชั่วฟ้าและดิน

ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่าน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ” โดยที่ประชุมน้อมรับพระราชกระแสนี้ใส่เกล้าฯ

ภายหลังพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรและ ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า “บัดนี้ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบงานการปกครองแผ่นดินที่ได้ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไปแต่บัดนี้”

อ่าน : เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน