แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ตอนแรก)

อยากทราบถึงการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ของรัชกาลต่างๆ

สายน้ำผึ้ง

ตอบ สายน้ำผึ้ง

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ – บทความ “แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจากที่ใดบ้าง” มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ ให้ความรู้ไว้ว่า พระมหากษัตริย์ที่จะขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ในขั้นตอนการเตรียมพิธีจะต้องมีการตักน้ำจากแหล่งสำคัญสำหรับนำมาเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และเพื่อทำน้ำอภิเษกก่อนที่จะนำไปประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งน้ำที่นำมาจะต้องมีความพิเศษกว่าน้ำธรรมดาทั่วไป

ตามตำราโบราณของพราหมณ์ จะต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที” หรือ แม่น้ำสายสำคัญ 5 สายในชมพูทวีป ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู โดยน้ำในแม่น้ำทั้ง 5 จะไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และที่สถิตของ พระอิศวร

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ด

สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยอยุธยาแม้จะมีการกล่าวถึง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ก็ไม่พบหลักฐานการนำน้ำปัญจมหานทีในชมพูทวีปมาใช้ในพระราชพิธี ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการเดินทางไปกลับระหว่างประเทศไทยในอดีตและประเทศอินเดียเป็นไปได้ยากที่จะนำน้ำจากปัญจมหานทีมาใช้ได้ เพราะตามธรรมเนียมประเพณีมาแต่เดิม เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดเสด็จผ่านพิภพ จะต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกภายใน 7 วัน หรืออย่างช้าภายในเดือนเศษ เป็นประเพณีสืบมาและกระทำกันก่อนที่จะถวายพระราชเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน จึงสันนิษฐานได้ว่าถ้าจะนำน้ำมาจากชมพูทวีปจึงเป็นไปไม่ได้

หลักฐานการนำน้ำศักดิ์สิทธิ์มาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปรากฏในหลักศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทแห่งสุโขทัย กล่าวถึงพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นผู้ปกครองสุโขทัยและข้อความในศิลาจารึก (พ.ศ.1132) ว่า “น้ำพุที่ออกมาจากเขาลิงคบรรพตข้างบนวัดภูใต้นครจำปาศักดิ์นั้นใช้เป็นน้ำอภิเษก” ขณะที่สมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใช้น้ำจากน้ำในสระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี เท่านั้น

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ด

ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนอกจากจะใช้น้ำจากแหล่งเดียวกันกับในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังนำน้ำจากแม่น้ำสายสำคัญอีก 5 สาย เรียกกันว่า “เบญจสุทธิคงคา” ซึ่งตักมาจากเมืองต่างๆ ดังนี้ 1.น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย จังหวัดเพชรบุรี 2.น้ำในแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม 3.น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้ว จังหวัดอ่างทอง 4.น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี และ 5.น้ำในแม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก

โดยน้ำแต่ละแห่งจะตั้งพิธีเสก ณ ปูชนียสถานสำคัญแห่งเมืองนั้น เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีการต่อที่พระนคร นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์เป็นพระครูพระปริตไทย 4 รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสรงมุรธาภิเษก จึงมีน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มขึ้นอีกอย่าง

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี พ.ศ.2411 ก็ใช้น้ำเบญจสุทธิคงคา และน้ำในสระ 4 สระ เมืองสุพรรณบุรี เป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับในรัชกาลก่อนๆ ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดียในปี พ.ศ.2415 ทรงได้นำน้ำปัญจมหานทีที่มีการบันทึกในตำราของพราหมณ์กลับมายังประสยามด้วย และในปี พ.ศ.2416 เมื่อได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 น้ำสรงมุรธาภิเษกจึงเพิ่มน้ำปัญจมหานทีลงในน้ำเบญจสุทธิคงคาและน้ำในสระทั้ง 4 ของเมืองสุพรรณบุรีด้วย

เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี พ.ศ.2453 ทรงใช้น้ำมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกจากแหล่งเดียวกันกับรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในปี พ.ศ.2454 นอกจากใช้น้ำเบญจคงคา น้ำปัญจมหานที และน้ำทั้ง 4 สระจากสุพรรณบุรีแล้ว ยังได้ตักน้ำจากแหล่งอื่นๆ และแม่น้ำตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคหล มาตั้งทำพิธีเสกน้ำ พุทธมนต์ ณ พระมหาเจดีย์สถาน ที่เป็นหลักพระมหานครโบราณ 7 แห่ง

ฉบับพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) พบกับแหล่งน้ำทั้งเจ็ด

โดย น้าชาติ ประชาชื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน