เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาฯคนแรก

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติ ประชาชื่น

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี – ผู้ใดคือประธาน สภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย

เปเป้

ตอบ เปเป้

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน อยุธยา) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภา ผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ..2475-1 กันยายน ..2475 นับเป็นประธานสภา ผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาคนแรกของประเทศไทย

มหาอำมาตย์เอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน อยุธยา ยังเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) ผู้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา

ประธานสภาฯคนแรก

ผู้ร่วมดำริให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ผู้นำกีฬาฟุตบอลมาเผยแพร่ในประเทศไทย และเป็นนักประพันธ์ ใช้นามปากกา ครูเทพ ผู้ประพันธ์เพลงกราวกีฬา และเพลงชาติฉบับก่อนปัจจุบัน

เกิดที่บ้านหลังศาลเจ้าหัวเม็ด ตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2419 เป็นบุตรคนที่ 18 จากบุตรธิดา 32 คนของ พระยาไชยสุรินทร์ (..เจียม เทพหัสดิน) และคุณหญิงอยู่

เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ท่านบิดาถึงแก่อนิจกรรม ชีวิตจึงผกผันจากการเป็นครอบครัวคนชั้นสูง บุตรขุนนางชั้นผู้ใหญ่ (พระยาไชยสุรินทร์เป็นเจ้ากรมพระคลังข้างที่ในต้นรัชกาลที่ 5) ต้องช่วยมารดาทำสวน ค้าขาย และรับจ้างเย็บรังดุมตั้งแต่ยังเด็ก

เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข พระตำหนักสวนกุหลาบ และโรงเรียนสุนันทาลัย จบประโยคมัธยมศึกษาชั้น 5 ภาษาอังกฤษหลักสูตรหลวงแล้วศึกษาต่อในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ เป็นนักเรียนรุ่นแรกที่มีเพียง 3 คน

สอบประกาศนียบัตรครูรุ่นแรกของกรมศึกษาธิการได้อันดับที่ 1 เมื่ออายุ 16 ปี ทำหน้าที่เป็นนักเรียนสอนในกรมศึกษาธิการ ก่อนเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์

..2439 เป็นนักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาวิชาครูต่อที่ประเทศอังกฤษ วิทยาลัยฝึกหัดครูเบอโร โรด (Borough Road College) เมืองไอส์ลเวิซท์ทางใต้ของกรุงลอนดอน จบแล้วได้เดินทางไปดูงานด้านการศึกษาที่ประเทศอินเดียและพม่าเป็นเวลา 3 เดือน และต่อมายังได้เคยเดินทางไปดูงานการศึกษา ประเทศญี่ปุ่นด้วย

..2459 เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และ ..2460 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่ออายุได้เพียง 41 ปี

ครั้น ..2475 เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในระบอบประชาธิปไตยระหว่าง 28 มิถุนายน-1 กันยายน และได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระหว่างวันที่ 1 กันยายน-27 ธันวาคม

กระทั่งปี 2476 รัฐสภามีมติเลือกกลับไปเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ท่านขอลาออกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าเหตุการณ์ในระยะนั้นไม่อาจรักษาความเป็นประชาธิปไตยตามครรลองที่ท่านคิดว่าควรเป็นไว้ได้

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีประกอบกิจการทางการศึกษาอันเป็นคุณูปการไว้แก่ประเทศไว้มากมาย โดยเฉพาะในการวางรากฐานอย่างสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่การเป็นครู ผู้ตรวจการศึกษา เป็นเจ้ากรมราชบัณฑิต เจ้ากรมตรวจ ปลัดทูลฉลองจนถึงเสนาบดี โดยนำเอาความรู้แผนใหม่เข้ามาในวงการครู

พัฒนาด้านพุทธศึกษาอย่างจริงจัง เขียนตำรา เริ่มตั้งแต่ด้านสุขาภิบาลและสุขศึกษาสำหรับครอบครัว เน้นปลูกฝังคุณธรรมและจรรยามรรยาท จัดทำแบบสอนอ่านเขียนด้านธรรมจริยาขึ้นใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ นำพลศึกษาและการกีฬาเข้ามาในโรงเรียนเพื่อสร้างลักษณะนิสัยให้เยาวชนรู้จักรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

จัดให้มีการศึกษาภาคบังคับเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาทั่วถึงกัน จัดตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งโรงเรียนประชาบาล เริ่มงานด้านหัตถศึกษา นำเอาวิชาอาชีพเข้ามาสอน ในโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนได้รับทั้งวิชาความรู้เพื่อไปรับราชการ และวิชาชีพสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพ

จัดตั้งโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งต่อมาได้แตกออกไปเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ริเริ่มการศึกษาด้านเกษตรกรรมโดยจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ส่งนักเรียนทุนไปศึกษาเกษตรกรรมต่างประเทศและได้กลับมาเป็นสามเสือเกษตรอันเป็นฉายาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีใช้เรียกบุคคลทั้ง 3 คือ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคศรีกสิการ และพระช่วงเกษตรศิลปการ ท่านเหล่านี้ล้วนมีคุณูปการต่อวงการเกษตร

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2486 โดยบั้นปลายท่านช่วยบุตรีเปิดโรงเรียนสตรีจุลนาคขึ้นในบริเวณบ้านพัก ได้ช่วยสอนโดยวิธีใหม่ และใช้เวลาเขียนบทความ หนังสือ บทประพันธ์ต่างๆ รวมทั้งบทเพลง

ปัจจุบันบ้านพักของท่านที่ถนนนครสวรรค์ นางเลิ้ง แม้จะมีขนาดเล็กและเรียบง่าย แต่ก็มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์โดยกรมศิลปากร

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน