วัดไชยวัฒนาราม วางระบบไฟ

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

น้าชาติ สรุปว่ายังไง ทุบกำแพงวัดไชยฯ ฝังสายไฟจริงหรือไม่ครับ

ใหม่เมืองนนท์

ตอบ ใหม่เมืองนนท์

วัดไชยวัฒนาราม วางระบบไฟ – เป็นประเด็นร้อนก่อนคลี่คลายด้วยคำชี้แจงจากกรมศิลปากร ระบุการรื้อกำแพงวัดไชยวัฒนาราม ไม่กระทบโบราณสถาน

โดย อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงเมื่อ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา กรณีความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการประดับไฟโบราณสถานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวในค่ำคืน ณ โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ที่มีการขุดตัดแนวกำแพงวัดด้านทิศเหนือ เพื่อวางระบบสายไฟ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความแท้และดั้งเดิมของโบราณสถาน ว่า

กรมศิลปากรตระหนักและให้ความสำคัญในคุณค่าของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามาโดยตลอด เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ปี 2534 เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยง ซึ่งปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเกือบ 3 ล้านคน เข้ามาชมกลุ่มโบราณสถานฯ

ดังนั้น กรมศิลปากรจึงจำเป็นต้องดูแลเป็นอย่างดี จัดงบด้านต่างๆ ให้ หนึ่งในนั้นคือโครงการเนรมิตอยุธยา เพื่อเพิ่มศักยภาพมรดกโลกและกระตุ้นการท่องเที่ยว และโครงการประดับไฟโบราณสถานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวในค่ำคืนก็เป็นหนึ่งในโครงการเนรมิตอยุธยา เพื่อภาพบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยู่ที่อยุธยานานขึ้น ให้รายได้ตกอยู่ในพื้นที่มากขึ้น

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า โครงการประดับไฟโบราณสถานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวในค่ำคืน ณ โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2561-27 มิถุนายน 2562

ต่อมาได้ขยายสัญญาถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ดำเนินการในพื้นที่ 9 แห่ง ได้แก่ โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดภูเขาทอง วัดเกษ คุ้มขุนแผน และศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า)

หัวใจของไลต์อัพ คือ โบราณสถานที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละวัดที่จำเป็นต้องไปติดตั้งไฟ มีความยากลำบากอยู่ที่การลากสายเคเบิลที่ไม่สามารถให้เลื้อยไปบนโบราณสถานได้

นายอนันต์ กล่าวว่า ภาพที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์ โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม กรมศิลปากรไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ช่องที่เห็นไม่ได้อนุญาตให้ผู้รับเหมาไปรื้อ แต่มีการหารือและวิเคราะห์ร่วมกัน ซึ่งเนื้องานวางสายไฟจำเป็นต้องวางแนวสายไฟเข้าพื้นที่โบราณสถานหลักด้านใน เพื่อส่องพระปรางค์ เมรุทิศ เมรุราย และพระวิหารด้านหน้า รวมทั้งพระเจดีย์คู่

โดยนักโบราณคดีได้พยายามดูในจุดที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จึงเลือกจุดที่กำแพงช่วงนั้นมีช่องว่างอยู่แล้ว คือ มุมตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้รถขุดขนาดเล็กเข้ามาขุดเพื่อวางสายเคเบิล ส่วนที่เป็นรอยของรถที่อาจไปเหยียบอิฐอยู่บ้าง และอิฐที่เห็นไม่ได้เกิดจากการทำลายโบราณสถาน กรมศิลปากรไม่ได้ให้ผู้รับจ้างเป็นคนทำ แต่ดูแลและเปิดช่องถอดแนวอิฐบริเวณกำแพง ระหว่างทำงานอาจมีบ้างเล็กน้อย เช่น รอยล้อรถที่ไปเหยียบอิฐ ไม่ใช่ผู้รับเหมาไปรื้อ ซึ่งได้กำชับไปแล้วว่าครั้งต่อไปต้องไม่มี

ทั้งนี้เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะบูรณะกำแพงให้ชนกันเลย เนื่องจากชำรุดเสียหายมานานแล้ว และที่เลือกส่วนที่เป็นกำแพงวัด เพราะเห็นว่ากำแพงวัดนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมไม่ซับซ้อน มีโอกาสได้รับผล กระทบน้อยสุด ขอให้มั่นใจว่าเมื่อแล้วเสร็จ ทุกอย่างจะเข้าสู่สภาพเดิม และมีความงดงาม

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวด้วยว่า กรมศิลปากรขอน้อมรับ คำวิจารณ์จากผู้ที่หวงแหนโบราณสถานไปปรับและทำงานให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น ทั้งกำแพงวัดไชยวัฒนารามดังกล่าวมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งกรมศิลปากรได้บูรณะในช่วงปี 2535 อิฐบางก้อนเป็นอิฐใหม่แต่ขนาดเท่าของเดิม เพื่อเสริมความมั่นคง ไม่ใช่เป็นซากดั้งเดิมที่ยังไม่มีการแตะต้องแต่อย่างใดยังมีคำชี้แจงจาก วีระศักดิ์ แสนสะอาด นักโบราณคดีประจำสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ว่า

การดำเนินการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อวางระบบไฟส่องสว่างใหม่ โดยวางแผนเป็นอย่างดีเพื่อให้กระทบต่อโบราณสถานน้อยที่สุด โดยแนวอิฐดังกล่าวเป็นแนวอิฐที่เพิ่งได้รับการบูรณะเมื่อราว 30 ปีก่อนมานี้เอง

[email protected]

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน