วธ.-ผู้ประกอบการไทย บุกตลาดภาพยนตร์โตเกียว

คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

พลเทพ สารภิรมย์

วธ.-ผู้ประกอบการไทย บุกตลาดภาพยนตร์โตเกียว – กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและ เผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ ที่ตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งโตเกียว ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค.2562

โดยการจัดพื้นที่รูปแบบคูหา เพื่อประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยได้นำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ไทย ไปจัดจำหน่ายในตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งโตเกียว (TIFFCOM 2019)

เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมและตัวแทน 6 บริษัทจากไทย

การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย ในเวทีระดับนานาชาติ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับบุคลากร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในระดับนานาชาติ

คณะจากกระทรวงวัฒนธรรมถ่ายรูปกับ ผู้บริหารบริษัท ญี่ปุ่น

กิจกรรมครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง

ช่วงที่ 1 กระทรวงวัฒนธรรม โดยมี นายสมเกียรติ พันธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานจัดงานกาลาดินเนอร์ งานเลี้ยงเพื่อส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสารัตถะไทย-ญี่ปุ่น ที่ภัตตาคาร SMT Tokyo มี นายศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และน.ส.นวลวรรณ ดาระสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ กลุ่มเลขานุการคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ เป็นผู้ประสานงาน และต้อนรับ แขกที่มาร่วมงาน

โอกาสนี้ผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงได้มีโอกาสพบปะ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและได้ทำความรู้จักกัน โดยมีเครือข่ายจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน มาร่วมงาน

อาทิ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) เป็นหน่วยงานราชการ มีหน้าที่สำคัญคือ วางแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เน้นการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ ทำเป็นนโยบาย Cool Japan ซึ่งเป็นการยกระดับสินค้า บริการ เพื่อสร้างกระแสนิยม สร้างรายได้ และจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และสนับสนุนการเงินแก่นักลงทุนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดทุนทรัพย์

ถ่ายรูปกับผู้บริหารฮ่องกง

บริษัท Akimoto Studio เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจระดับโลก ผลงานที่โดดเด่น คือ การจัดตั้งวง AKB48 และมีการขายแฟรนไชส์ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย , บริษัท Toppan เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี VR โดยนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิง และงานด้านวัฒนธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ มีเครือข่ายอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากประเทศไทย ได้แก่ บริษัท บีเอ็นเค 48 ออฟฟิศ จำกัด, บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด, บริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด, บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เข้าร่วมงานเลี้ยง

นายสมเกียรติกล่าวเปิดงานและขอบคุณแขกที่มาร่วมงานว่า ประเทศไทยได้ร่วมจัดคูหาเพื่อประชาสัมพันธ์ทุกปี และปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำทีมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาออกคูหา การจัดตลาดภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมผลักดันภาพยนตร์ไทยไปสู่เวทีนานาชาติ และงานเลี้ยงในค่ำคืนนี้ก็เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์ ได้พบปะกับเอเยนซี่ และผู้ประกอบการภาพยนตร์ของญี่ปุ่น ซึ่งผู้ประกอบการไทยนั้น เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการผลิตภาพยนตร์ สารคดี และอุตสาหกรรมวีดิทัศน์ ที่พร้อมจะมาติดต่อและแลกเปลี่ยนในเชิงธุรกิจ

กระทรวงวัฒนธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานเลี้ยงพบปะในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมวีดิทัศน์ ภาพยนตร์ และสารคดี หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของการ์ตูน แอนิเมชั่น ได้มีการพัฒนาต่อยอด และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น และประสบความสำเร็จในตลาดภาพยนตร์ของประเทศญี่ปุ่น และอาเซียนต่อไป

บรรยากาศของงานเลี้ยงเป็นไปอย่างคึกคักจากผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น และผู้ประกอบการชาวไทย ที่ได้หารือแลกเปลี่ยนทัศนคติ พร้อมทั้งสอบถามและพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง เรียกได้ว่างานเลี้ยงในค่ำคืนนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

สําหรับช่วงที่ 2 เป็นการเข้าคูหาประเทศไทย (Content Thailand Pavilion) ที่ตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งโตเกียว โดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พาผู้ประกอบการทั้ง 6 บริษัท เข้าประจำการที่คูหาภายในอาคาร ซันไชน์ ซิตี้ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อิเคะบุคุโระ กรุงโตเกียว เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และวีดิทัศน์ รวมถึงคอนเทนต์ต่างๆ

อีกทั้งประชาสัมพันธ์การถ่ายทำภาพ ยนตร์ต่างๆ ของประเทศในประเทศไทยด้วย และให้ผู้ประกอบการทั้ง 6 บริษัท นำผลิตภัณฑ์ ที่ประกอบด้วย สารคดี ภาพยนตร์ และภาพยนตร์แอนิเมชั่น ฯลฯ มาเปิดตลาดให้กับผู้ที่สนใจได้เข้าศึกษาเพื่อเจรจาการค้าขายต่อไป

นายสมเกียรติ พันธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีภารกิจในเรื่องการ ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และ วีดิทัศน์ และการที่ได้มาเข้าร่วมงาน ตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติแห่งโตเกียวครั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยน มาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาพยนตร์ได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งการมาขายก็ดี และการมาซื้อก็ดี เรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกัน นับเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีด้วย อีกทั้งยังเป็นการให้ผู้ประกอบการได้เห็นโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาสินค้าของตนเอง เพื่อให้ก้าวมาสู้ตลาดอินเตอร์ได้มากยิ่งๆ ขึ้น ดูว่าคู่แข่ง มีความพัฒนาอย่างไร

โปสเตอร์ ซีรีส์ จากบูธประเทศจีน

การมาร่วมงานในครั้งนี้ประโยชน์ที่ได้ คือ 1.ความสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น 2.ทำให้ผู้ประกอบการของไทยได้มีประสบการณ์ ได้แลกเปลี่ยน และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ได้นำประสบการณ์ไปต่อยอดในธุรกิจของตนเองว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างชาติมีแนวโน้มไปในทิศทางใด 3.ผู้ประกอบการนำสินค้ามาขายได้ รายได้ก็จะกลับมาสู่ประเทศไทย

ด้านตัวแทนจากบริษัทกันตนา กล่าวว่า เรามีเจตนาที่จะมาสร้างคอนเน็กชั่น ทุกๆ มิติเลย เพราะจริงๆ กันตนาทำ ทั้งภาพยนตร์ ทีวี และซีรีส์ รวมถึงคอนเทนต์ต่างๆ ทางออนไลน์ ในมือของเรามีทั้งดาราและรายการอยู่แล้ว เรียกว่าพร้อมที่จะทำทุกอย่าง ทุกคอนเทนต์ และในทุกๆ แพลตฟอร์ม เมื่อครั้งที่ภาพยนตร์เรื่องๆ หนึ่งประสบความสำเร็จ ก็มีความตื่นตัวในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จึงเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ทุกๆ คนเริ่มอยากจะทำให้ได้อย่างนั้น ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบที่ทำหนังไปขาย และมีการร่วมผลิตและนำไปขายที่ต่างประเทศมากขึ้น

ตัวแทนสาวจากกันตนา ประเทศไทย

จริงๆ แล้วทางกันตนาได้ทำการค้าขายหรือทำความร่วมมือกับต่างประเทศมาหลายสิบปีแล้ว เริ่มจากการผลิตรายการ ผลิตซีรีส์ แม้กระทั่งที่ญี่ปุ่น เราก็มีบริษัท กันตนาเจแปน ที่มีหน้าที่หาลูกค้าญี่ปุ่นแล้วส่งกลับมาไทยที่ทำทั้งด้านโพสต์โปรดักชั่น เช่น ภาพยนตร์แอนิเมชั่น เป็นต้น

“ส่วนเรื่องการเติบโตด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และแอนิเมชั่นของเรามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าประสบความสำเร็จก็ว่าได้ แต่โลกมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ตัวผู้ผลิตเองก็ต้องก้าวตามให้ทันกับเทคโนโลยีและยุคสมัยด้วย ดังนั้น งานที่กระทรวงวัฒนธรรมส่งเสริมอยู่นี้ เราจึงยินดีให้ความร่วมมือเสมอมา”

งานนี้จึงถือได้ว่ามีผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก

อ่าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน