ชวนสูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน : รายงานพิเศษ

ชวนสูงวัยใส่ใจ – มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด จัดเสวนา ‘สูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน’ และกิจกรรมประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก

ชวนสูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน : รายงานพิเศษ

โดย ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนคือ ภาวะที่ความแข็งแกร่งของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกเปราะบาง และเสี่ยงกระดูกหักได้ง่ายขึ้น โรคกระดูกพรุนจัดเป็นภัยเงียบเนื่องจากไม่มีอาการ ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน หรือตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสม

ศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ รองประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อยและเป็นภัยเงียบในสตรีวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการขาดเอสโตรเจนของวัยหมดประจำเดือนทำให้มวลกระดูกสลายมากขึ้น จนมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนตามมา โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก ดังนั้น สตรีวัยหมดประจำเดือนควรพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง เพราะโรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้หากตรวจพบตั้งแต่แรกๆ และรักษาถูกต้องจะป้องกันกระดูกหักจากกระดูกพรุนได้

ชวนสูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน : รายงานพิเศษ

ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การหกล้มในผู้สูงอายุเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ กระดูกหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีปัญหาการทรงตัว ปัญหาสายตา การกินยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ง่วงซึม รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้มจะช่วยทำให้สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการหกล้มที่จะเกิดขึ้นได้

ชวนสูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน : รายงานพิเศษ

การดูแลสุขภาพและประเมินปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุตั้งแต่เริ่มต้นจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองให้ได้นานที่สุด และสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อผู้อื่น ให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับตำแหน่งที่กระดูกหักมากและบ่อยคือ สะโพก ข้อมือ ซี่โครง ต้นแขน สันหลัง ซึ่งอาการของการเกิดกระดูกหักมักสัมพันธ์กับการล้ม

ชวนสูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน : รายงานพิเศษ

ส่วนวิธีการป้องกันการหกล้ม 3 วิธีคือ

1. แก้ไขปัจจัยภายใน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการทรงตัวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยฝึกการทรงตัว ออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและฝึกเดิน แก้ไขความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนท่าเร็วๆ หรือจากยาที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วง หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือรบกวนการเคลื่อนไหวและการทรงตัว แก้ไขปัญหาการมองเห็น โดยเฉพาะโรคต้อกระจกที่มักพบในผู้สูงอายุแก้ไขปัญหาเท้าผิดรูป/แผลเรื้อรังของผู้สูงอายุ รวมทั้งการแก้ไขรองเท้าที่ใส่ให้เหมาะสม

ชวนสูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน : รายงานพิเศษ

2.แก้ไขปัจจัยภายนอก โดยการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม เช่น บริเวณในบ้านและนอกบ้านมีไฟส่องสว่างเพียงพอ บันไดมี ราวจับและไฟส่องสว่าง ห้องน้ำ พื้นไม่ลื่น และมีราวจับ หรือมีเก้าอี้อาบน้ำ

3.การเพิ่มความแข็งแรงและมวลของกระดูก โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมวัว ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น รับแสงแดดวันละ 30 นาที การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก 30 นาที 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ และเพิ่มความแข็งแรงของมวลกระดูก

การป้องกันโรคกระดูกพรุน สามารถเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กได้ ส่วนผู้ที่ตรวจพบแล้วว่าเป็นโรคกระดูกพรุน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้แนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยา และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน