สุรากับไทย

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

สุรากับไทย – น้าชาติ ดูข่าวแย่งกันซื้อเหล้าเบียร์โกลาหล เลยอยากรู้คนไทยกินเหล้ามาแต่สมัยไหน

สุหงส์

ตอบ สุหงส์

คำตอบนำมาจากบทความเรื่อง “เปิดโลกสุราในไทย บันทึกฝรั่งว่าสยามนิยมดื่มแต่น้อย ทำไมกระดกกันอื้อสมัยรัตนโกสินทร์” เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com/ สรุปความดังนี้

การผลิตสุราเป็นวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่รู้จักข้าวและมีการทํานา ดังปรากฏหลักฐานว่า มนุษย์เอาข้าวมาหมักทําเบียร์ และการที่สุรามีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดจนส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้เสพ จึงเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้สุรามีบทบาทในสังคม 2 นัย

คือ บทบาทที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นน้ำอมฤต กับที่เป็นการตําหนิว่าเป็นสิ่งเสพติด แต่ในบางสังคมอาจเป็นทั้ง สิริมงคลและสิ่งต้องห้าม บางขณะสุราเป็นยา แต่ก็เป็นโทษต่อสุขภาพได้เช่นกัน จึงเป็นทวิลักษณ์หรือมีฐานะอันแย้งขัดกันของสุราซึ่งปรากฏอยู่ในสังคมไทย

ยังไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าความเป็นมาของสุราในประเทศไทยเริ่มมาแต่เมื่อใด แต่อาจจะอนุมานได้ว่า ผู้คนในดินแดนแถบนี้น่าจะรู้จักสุรามาเป็นเวลานานแล้ว จากข้อเท็จจริงที่ว่าคน ในดินแดนแถบนี้รู้จักปลูกข้าวมาไม่น้อยกว่า 5,000 ปี ดังปรากฏ หลักฐานที่ถ้ำทุ่งบัง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

หากว่ากันถึงตํานานสุราของเมืองไทย ล้วนเป็นตํานานที่มาจากภายนอก มีบางส่วนมาจากพระไตรปิฎก ส่วนตํานานกําเนิดสุราที่เป็นของไทยเราเองนั้นยังไม่พบ หลักฐานเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่พูดถึงสุราก็คือจารึกภาษาเขมรที่ปราสาทพนมรุ้ง กล่าวถึงการเซ่นสรวงมีการใช้สุรา

สุราชนิดแรกที่คนไทยรู้จักคือ สุราแช่ ได้จากการหมักข้าวตามกระบวนการธรรมชาติซึ่งเป็นวิวัฒนาการของสุราทั่วโลก (ส่วนสุรากลั่น กว่ามนุษย์จะทําได้ก็หลังจากนั้นไม่น้อยกว่า 4,000 ปี) สุราแช่ที่คนไทยคุ้นเคยมาแต่อดีต ได้แก่ น้ำตาลเมา หรือกะแช่ ทําจากน้ำตาลสดที่มาจากมะพร้าวหรือตาลโตนด อุทําจากข้าวเหนียวกล้องสาโทและน้ำขาวก็ทําจากข้าวเช่นกัน

หลักฐานเก่าที่สุดเท่าที่ค้นพบซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของสุราในไทยคือ บันทึกของชาวจีนที่มากรุงศรีอยุธยาช่วง ปี พ.ศ. 1950-1952 พูดถึงชาวพื้นเมืองว่า ใช้อ้อยมากลั่นเป็นสุรา แต่บันทึกนี้อาจคลาดเคลื่อนได้ เพราะไม่พบว่าคนไทยกลั่นสุราจากอ้อย

อย่างไรก็ตาม ในสมัยพระนารายณ์มหาราช คนไทยรู้จัก สุรากลั่นแล้ว ที่เรียกกันทั่วไปว่า “เหล้าโรง” ส่วนฝรั่งเรียก “เหล้าอารัก” และยังมีสุราอีกประเภทหนึ่งซึ่งทําจากข้าว ได้แก่ “สัมชู” (Samshoe) มีดีกรีแรงมาก ภายหลังเมื่อคบค้ากับตะวันตกมากขึ้นแล้ว คนไทยก็รู้จักสุราแช่ สุรากลั่นชนิดต่างๆ มากขึ้นไปด้วย เช่น ไวน์หรือเหล้าองุ่น เบียร์ แชมเปญ วิสกี้ บรั่นดี

จากบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยนี้มักกล่าวกันว่า คนไทยแต่เดิมไม่ดื่มสุราเท่าใดนัก ดังในบันทึกของ ลาลูแบร์ แชรแวส และสังฆราชแห่งเบริธ กล่าวว่า น้ำบริสุทธิ์เป็นเครื่องดื่มทั่วไปของชาวสยาม ที่นิยมรองลงมาคือน้ำชา ส่วนสุรานั้นมีน้อยมากและเฉพาะคนชั่วร้ายเท่านั้น

สุรามีที่มา 2 ทาง คือ ทําเองหรือซื้อที่ชาวบ้านทํา ได้แก่สุราแช่เป็นหลัก อีกชนิดหนึ่งคือสุรากลั่น (ชื่อเหล้าโรง ก็บ่งบอกแล้วว่าเป็นสุรามาจากโรงงาน) เชื่อว่าจีนเป็นชาติแรกที่นำสุรากลั่นมายังเมืองไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีคนจีนผูกขาดทั้งการกลั่นและการขาย ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ส่วนคนไทยแม้มีอยู่ไม่น้อยแต่ไม่มากเท่าชาวจีน

ฉบับพรุ่งนี้ (13 พ.ค.) พบการร่ำสุรายุครัตนโกสินทร์

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน