จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผนึกกำลังหน่วยงานในสังกัด และบริษัทในเครือมติชน ร่วมจัดแสดงผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือคนไทย ที่ใช้ในกระบวนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และนวัตกรรมแห่งชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ให้ประชาชนผู้สนใจได้ชมและทดลองใช้งานกันอย่างใกล้ชิด ในงาน “HEALTHCARE 2020 สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ” โดยมีนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ

  • Chula COVID-19 Strip Test

ตัวแทนจากใบยา ไฟโตฟาร์ม สตาร์ทอัพสายไบโอเทคโนโลยีสัญชาติไทย ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า Chula COVID-19 Strip Test เป็นชุดตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นสำหรับหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลงานจากใบยา ไฟโตฟาร์ม (Baiya Phytopharm) ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมของพืช มาใช้สร้างโปรตีนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะจับกับแอนติบอดีในเลือดของผู้ป่วย ถ้าหากผู้เข้ารับการตรวจติดเชื้อไวรัส เมื่อหยดเลือดและใส่สารละลายบัฟเฟอร์ลงไป เครื่องมือจะแสดงผลเป็นสีชมพูอ่อน ตามหลักการเดียวกับอุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์

ซึ่งเริ่มแรกได้เปิดให้ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือมีคนในครอบครัวเพิ่งเดินกลับจากต่างประเทศ สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับการตรวจผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ หากพบเชื้อ จะทำการจัดส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อีกทั้งยังได้แจกจ่ายไปยังหน่วยงานทางการแพทย์ทั่วประเทศ ต่อมาได้นำโปรตีนที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (กำลังอยู่ในขั้นทดลองผลในสัตว์ทดลอง) อีกทั้งยังเตรียมขยายผลเป็นโรงงานด้านการตัดต่อพันธุกรรม สร้างโปรตีนในพืช เป็นครั้งแรกในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ข้อดีของการผลิตโปรตีนจากพืช คือ สามารถผลิตได้เร็ว และค่าใช้จ่ายไม่สูงเมื่อเทียบกับการผลิตโปรตีนด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ ช่วยลดรายจ่ายของภาครัฐในการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงลงได้ เราเชื่อมั่นว่าถ้ามีเทคโนโลยีนี้ในประเทศ เมื่อมีโรคอุบัติใหม่เข้ามา คนไทยจะมีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ไม่ต้องพึ่งพานวัตกรรมจากต่างชาติที่มีราคาสูงอีกต่อไป”

  • CU-RoboCovid

หุ่นยนต์และอุปกรณ์​สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์​โรคระบาดโควิด-19 ที่ช่วยลดการสัมผัสผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายของชุด PPE และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นนวัตกรรมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Mi Workspace, HG Robotics และ Obodroid ที่มุ่งเน้นการพัฒนาหุ่นยนต์ราคาถูก และผลิตได้เร็ว ทันต่อความต้องการใช้งาน โดยใช้วัสดุที่หาได้ภายในประเทศ ประกอบไปด้วย “น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์ส่งของและเวชภัณฑ์แบบแมนนวล และ “น้องกระจก” หุ่นยนต์สื่อสารทางไกลในรูปแบบแท็บเล็ต ผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตัวเครื่องทำจากวัสดุ Military Grade สามารถใช้แอลกอฮอล์เช็ดล้างได้ กันน้ำ กันกระแทก จึงสามารถอยู่ในพื้นที่ติดเชื้อและทำความสะอาดได้ตลอดเวลา ซึ่งทั้งสองอุปกรณ์สามารถนำมาประกอบกันได้เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวแทนจากทีม CU-RoboCovid เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้นำหุ่นยนต์น้องปิ่นโตไปใช้ในหลายโรงพยาบาลแล้วกว่า 100 ตัว และกำลังผลิตเพิ่มอีก 100 ตัว เพื่อทยอยส่งไปยัง 10 โรงพยาบาลทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งเราได้รับความอนุเคราะห์จากพี่น้องคนไทยเป็นจำนวนมาก CU-RoboCovid กลายเป็นแคมเปญขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ คณะทำงานจึงพยายามตอบแทนสังคมด้วยการสร้างหุ่นยนต์และส่งออกไปในพื้นที่ที่ต้องการให้ได้มากที่สุด

  • Mask Shield Plus

สเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพของหน้ากากผ้า นวัตกรรมจากความร่วมมือของสตาร์ทอัพ Napsolute จากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแบรนด์ TigerPlast

ตัวแทนจาก Napsolute กล่าวถึงคุณสมบัติพิเศษของสเปรย์ตัวนี้ว่า สามารถใช้ฉีดพ่นบนหน้ากากผ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกันฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เนื่องจากสารพอลิเมอร์ทางการแพทย์ในสเปรย์จะช่วยปรับประจุของหน้ากากผ้าให้เป็นประจุเดียวกันกับสิ่งแปลกปลอมในอากาศ ทำให้เมื่อมาใกล้กัน จะเกิดแรงผลักออกจากกัน เพียงรอให้หน้ากากแห้งก่อนใช้งาน ซึ่งสารดังกล่าวมีความปลอดภัย และไม่ส่งผลต่อการหายใจ เมื่อใช้เสร็จแล้วสามารถนำกลับมาซักล้างได้ตามปกติ โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงและสาธิตวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พร้อมจัดจำหน่ายในราคาสุดพิเศษ

“Mask Shield Plus เป็นนวัตกรรมทางเลือกของสถานการณ์ที่ขาดแคลนหน้ากากทางการแพทย์ ช่วยแก้ไขปัญหาและบรรเทาสถานการณ์โรคติดต่อ เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย”

  • Telemedicine & Telepresence

เป็นชุดหุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์ Regional Center of Robotic Technology โดยมีจุดประสงค์แรกเริ่มคือรักษาผู้ป่วยโรคเลือดสมอง แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดชองโควิด-19 ทางศูนย์ฯ ได้นำหุ่นยนต์บางส่วนมาใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสในโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วย

ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ หัวหน้าศูนย์ Regional Center of Robotic Technology เปิดเผยว่า หุ่นยนต์บางส่วนได้ถูกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับช่วงที่โควิดแพร่ระบาด เช่น Telemedicine & Telepresence ที่ใช้ในการสื่อสารทางไกลระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อไวรัส, หุ่นยนต์สำหรับตรวจวัด บันทึกสุขภาพ และประเมินสุขภาพเบื้องต้น โดยมีอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ ความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย คลื่นหัวใจ และออกซิเจนในเลือด ติดกับหุ่นยนต์ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งเก็บไว้ในระบบคลาวด์ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น

และอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นไฮไลท์สำหรับงานนี้ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด-19 แต่เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีจุดประสงค์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย กับ “Rehabilitation Robotic Exoskeleton System” หุ่นยนต์ฟื้นฟูการใช้กล้ามเนื้อและข้อต่อของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง ผ่านระบบเกมและโปรแกรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อันจะทำให้ผู้ป่วยไม่เบื่อหน่าย และสนุกกับการรักษา โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถทดลองใช้หุ่นยนต์นี้ได้ด้วยตัวเอง

นวัตกรรมสุขภาพที่น่าสนใจทั้งหมดนี้ พร้อมเจอกับทุกคนแล้วที่งาน “HEALTHCARE 2020 สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ” 3 – 6 กันยายน 2563 นี้ อย่าลืมมาเจอกันที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน