ปักหมุดมูลนิธิอนุรักษ์ช้าง – หลังเสร็จภารกิจศึกษาดูงานกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ ในพื้นที่จ.เชียงใหม่ ได้มีโอกาสไปเยือน “Elephant Nature Park” หรือ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ในอ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ทันทีที่เข้าไปในบริเวณพื้นที่ได้พบกับความสงบ ร่มรื่น เขียวขจีของต้นไม้น้อยใหญ่ และที่ตื่นตาตื่นใจมากที่สุดเห็นจะเป็นบรรดา “ช้าง” หลายสิบเชือกที่เดินเล่น พักผ่อนอยู่รอบๆ ตัวเรา

โดยมี พี่เล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและ สิ่งแวดล้อม ต้อนรับและให้ข้อมูลกับคณะผู้มาเยือน

พี่เล็กเล่าว่า เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะปกป้องช้างเหล่านี้ให้รอดพ้นจากสิ่งอันตรายต่างๆ จึงก่อตั้งมูลนิธิแห่งนี้ขึ้น

พี่เล็กเกิดเมื่อปี 2505 ในหมู่บ้านชาวเขาเล็กๆ ที่เมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมายังเป็นวัยรุ่น มีโอกาสเข้าไปในป่าที่เป็นเขตการทำอุตสาหกรรมไม้ ได้ยินเสียงร้องของช้าง เลยเดินเข้าไปดู และเห็นช้างเชือกใหญ่มากยืนอยู่ตรงหน้าห่างไม่กี่เมตร กำลังร้องโหยหวน เนื่องจากเจ็บปวดจากการถูกควาญช้างทำร้าย เพราะไม่มีแรงลากท่อนซุง เลือดไหลจากหน้าผากลงมา

จากวันนั้นก็จำแววตาของช้างเชือกนั้นไม่มีวันลืม แววตาที่เหมือนกับว่ากำลังร้องขอความช่วยเหลืออยู่

พอกลับออกมาก็นอนไม่หลับ เพราะเอาแต่คิดว่าจะช่วยเหลือช้างเชือกนั้นได้อย่างไร และคิดได้ว่าเธอต้องมีเงินก่อนถึงจะช่วยเหลือช้างได้ ทำให้ช่วงปิดเทอมต้องทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้มีเงินไปซื้อยารักษาโรคและบาดแผลให้กับช้างที่บาดเจ็บเชือกนั้น

เมื่อกลับไปที่เดิม พบว่ายังมีช้างอีกหลายเชือกในหลายหมู่บ้านป่วย มีทั้งพิการ ตาบอด ขาหัก ขาเป๋ ก็กลับมาคิดหนักอีกว่าทำอย่างไรจะรักษาช้างเหล่านี้ได้ เพราะถ้าช้างยังถูกใช้งานแบบนี้คงไม่มีวันดีขึ้น จึงคิดการใหญ่ด้วยการซื้อช้างมาดูแลเอง

จากวันนั้นทำให้พี่เล็กต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งขายหนังสือ ขายเครื่องสำอาง ขายเสื้อผ้า เป็นไกด์อิสระพานักท่องเที่ยว ได้เงินมาก็เอามาเลี้ยงช้าง เช่าที่ดิน จ้างคนงานเลี้ยงช้าง

ต่อมาในปี 2539 ได้เปิดศูนย์ช้างแห่งแรกในพื้นที่ขนาดเล็กใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จนถึงปี 2546 ได้รับการบริจาคที่ดินจากครอบครัวชาวอเมริกันชื่อ “เบิร์ต วอน โรเมอร์” จากองค์กรเซอร์เรงเกติ

ตอนเริ่มโครงการมีช้างที่มีผู้ใจบุญช่วยเหลือมาและนำมาบริจาคทั้งหมด 9 เชือก หลังจากนั้นเป็นต้นมาที่นี่ได้จัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบขึ้นด้วยการเปิดให้อาสาสมัครมาทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือช้างและสัตว์ในโครงการ ใช้ระบบการบริหารการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน นำรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายมาบริจาคให้มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไป ช่วยเหลือสัตว์ เช่าที่ดิน และซื้อที่ดิน ใกล้เคียงให้เป็นที่อาศัยของสัตว์ต่อไป

ช้างที่ถูกนำมาดูแลที่นี่จะได้รับความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด จะไม่ถูกฝึกให้ทำการแสดงใดๆ ที่นี่จะเป็นเหมือนบ้านหลังสุดท้ายของเขา ให้เขาได้พักผ่อน

ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่จะได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของช้างในแบบที่เขาเป็นจริงๆ

“ช้างที่นี่เกิน 70-80% เป็นช้างแก่ หรือช้างที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพราะถูกทำร้ายมาก่อน เราก็ต้องดูแลให้ ความรักกับเขา เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ มีการแบ่งโซนช้าง หากดุร้ายมากๆ ก็จะแยกไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ส่วนกลุ่มที่สุขภาพจิตดี ไม่ดุร้าย จะให้อยู่ในพื้นที่ที่คนไปเยี่ยมชมได้” พี่เล็กกล่าว

พร้อมยกตัวอย่าง “ฟ้าใส” ที่มาที่นี่ตั้งแต่ 4 ขวบกว่า เป็นช้างที่เคยถูกล่ามโซ่มาตลอด เพราะเป็นช่างเร่ ที่เจ้าของมาตระเวนออกแสดงตามที่ต่างๆ ในจ.บุรีรัมย์ ตอนที่ไปเจอโซ่ที่ล่ามกินเข้าไปในเนื้อ มีหนองเต็มไปหมด กระทั่งปัจจุบันแม้ไม่ได้ล่ามโซ่แล้วแต่ยังมีรอยแผลเป็นร่องลึกเหลือไว้ให้เห็น

แม้ว่าแรกๆ ฟ้าใสจะไม่ชอบคนเพราะเคยโดนทำร้ายมาก่อน แต่เมื่อได้อยู่ในสถานที่ที่ดี มีอาหารให้กินอิ่ม เขาก็ไว้ใจคนมากขึ้น ตรงนี้เราก็ต้องเข้าใจเพราะ ฟ้าใสไม่เคยอยู่กับแม่ ถูกพรากไปตั้งแต่เด็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เวลามีช้างเกิดใหม่มันจะไม่ไปไหน จะช่วยดูแลลูกช้าง ทำตัวเป็นพี่เลี้ยงพาลูกช้างไปกินนม เข้าใจว่ามันคงโหยหาความรัก แม้แต่กับพี่เล็กเองมันก็หวง คงเข้าใจว่าพี่เล็กเป็นแม่ไปด้วย ถือว่าเป็นขวัญใจของทุกคนไปแล้ว

ส่วน “ทงอี” เป็นลูกช้างที่ได้มาตอนอายุ 6 เดือน เป็นช้าง เดินถนน ก็ไปช่วยมา ตอนนี้อายุ 6 ขวบ ตัวนี้ก็ติดคนและมีมนุษยสัมพันธ์ดี ตอนนี้กลายเป็นขวัญใจของทุกคนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ปางช้างเพื่อการท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศได้รับผลกระทบขาดรายได้เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ และนักท่องเที่ยวไทยก็ไม่ค่อยเดินทางท่องเที่ยวมากนัก ทำให้เจ้าของปางช้างและควาญช้างต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ทั้งค่าจ้าง ควาญช้าง และค่าอาหารช้าง จนส่งผลกระทบต่อการดูแลช้าง

ปางช้างเหล่านี้จึงนำช้างมาฝากให้มูลนิธิเลี้ยงจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ปัจจุบันมีช้างในการดูแลกว่า 96 เชือก และช้างฝากอีกไม่ต่ำกว่า 30 เชือก สัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข แมว วัว ควาย รวมทุกชนิดเกือบ 3 พันตัว จึงเป็นที่มาของการบริจาคเงินผ่านมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เพื่อระดมทุนช่วยเหลือช้างไทยทั่วประเทศ เพราะรายได้ที่เคยได้จากท่องเที่ยวของที่นี่จากที่เคยได้เดือนละ ล้านกว่าบาท ตอนนี้แทบเป็นศูนย์

โดยเงินบริจาคจะเป็นค่าอาหารของช้าง 1 เชือกในหนึ่งวัน 700 บาท เป็นค่าอาหารของสุนัขหรือแมวหนึ่งสัปดาห์ 350 บาท เป็นค่าอาหารของหมู วัว หรือควายหนึ่งสัปดาห์ 300 บาท เป็นค่าอาหารของลิงหนึ่งสัปดาห์ 200 บาท เป็นค่าอาหารของกระต่ายหนึ่งสัปดาห์ เป็นต้น

หากใครเดินทางไปเชียงใหม่ หรือจังหวัดใกล้เคียง “มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม” น่าจะเป็นอีกจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจะได้มากกว่าความเพลิดเพลินใจ แต่จะอิ่มใจกับการเป็นผู้ให้ในคราวเดียวกัน

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ เฟซบุ๊ก Lek.chailert, อินสตาแกรม lek_chailert, www.elephantnaturepark.org, www.saveelephant.org โทร.0-5327-2855

โดย วรนุช มูลมานัส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน