น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

น้าชาติ ขอประวัติ ความเป็นมาเพลงพญาโศกที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.9

สู่ขวัญ

ตอบ สู่ขวัญ

เว็บไซต์ http://www.kingrama9.net ว่าด้วยพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บันทึกไว้ว่า “เพลงพญาโศก” หรือ “เพลงโศกประจำชาติ” พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงฯ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ได้ทรงนำเพลงพญาโศกอัตรา 2 ชั้นมาเรียบเรียงเป็นโน้ตสากล ทั้งเพิ่มเติมเสียงประสานให้มีความไพเราะเป็นแบบเพลงตะวันตก เพื่อให้กองแตรวงทหารบรรเลงแทนเพลงสโลว์มาร์ชที่เป็นของต่างชาติ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรเลงครั้งแรกในการพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี พระพันปีหลวง และมีพระราชดำรัสว่า “เพลงนี้ได้ทำขึ้นเหมาะแก่การใช้นำศพอย่างยิ่ง เพราะดี สมควรเป็นเพลงโศกจริงๆ ต่อไปขอให้ใช้เพลงนี้เป็นเพลงโศกประจำชาติ และใช้นำตั้งแต่พระบรมศพตลอดจนศพสามัญได้”

หลังจากนั้นจึงใช้เพลงพญาโศกแทนที่ใช้บรรเลงมาก่อนหน้านี้ ต่อมาเมื่อเสด็จไปรับราชการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทูลกระหม่อมบริพัตรได้ทรงพระนิพนธ์เพิ่มเติม โดยนำเพลงต้นพญา โศกมาเรียบเรียงให้เป็นท่อน 2 เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น จนเป็น ที่นิยมใช้กันในการบรรเลงขณะเคลื่อนขบวนศพจนถึงปัจจุบัน

การพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงพญาโศกบรรเลงโดยกรมดุริยางค์ทหารบกในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 2

ยังมีข้อมูลบันทึกว่า เพลงพญาโศกเป็นเพลงเก่ามีมาแต่สมัยอยุธยา โดยรวมอยู่ในเพลงเรื่องพญาโศก (เพลงเรื่อง คือเพลงชุดที่นำทำนองเพลงที่มีลีลาคล้ายกันมาบรรเลงติดต่อกัน) ประกอบด้วย พญาฝัน พญาโศก ท้ายพญาโศก พญาตรึก พญารำพึง และพญาครวญ บางครั้งนำไปบรรเลงเป็นเพลงเกร็ดเพื่อประกอบการแสดงละครและโขนในบทที่โศกเศร้า

ล่วงถึงยุครัตนโกสินทร์ พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือ ครูมีแขก คีตกวี ได้แต่งขยายเพลงพญาโศกขึ้นเป็นอัตราจังหวะสามชั้น เพื่อบรรเลงและขับร้องในวงมโหรีและวงปี่พาทย์ และด้วยความที่เพลงพญาโศกเป็นเพลงที่มีอัตราจังหวะมาก ทำนองยาว ใช้เวลาบรรเลงแต่ละรอบนาน ประกอบกับทำนองเพลงเปลี่ยนทาง ทำให้มีความน่าสนใจ พระประดิษฐไพเราะจึงเห็นว่าเหมาะที่จะทำเป็นเพลงเดี่ยวด้วย ไว้อวดฝีมือว่าใครทำได้ไพเราะเสนาะหูแค่ไหน

ขณะที่ครูดนตรีไทยรุ่นหลังนำเพลงพญาโศกมาแต่งเป็นทางเดี่ยว เครื่องดนตรีหลากหลาย ทั้งซอ ระนาด ฆ้อง ปี่ มีความไพเราะในลีลาท่วงทำนองแตกต่างกัน ทางที่เป็นที่นิยม เช่น ทางของจางวางทั่ว พาทยโกศล ซึ่งทำเดี่ยวไว้สำหรับวงปี่พาทย์ครบรอบวง, ทางเดี่ยวฆ้องของครูสอน วงฆ้อง และทางเดี่ยวซอสามสายของ พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตรเสวิน)

เพลงพญาโศกมีพัฒนาการสูงสุดในเวลาต่อมา โดยเฉพาะ ทางเดี่ยวพญาโศกของระนาดเอก ครูบุญยงค์ เกตุคง ที่ได้ประดิษฐ์ทางเดี่ยวพญาโศกสี่ชั้นโดยต่อให้กับ สืบสุด ดุริยประณีต เป็นทางเดี่ยวที่มีความแยบคาย ความยาก รวมเทคนิควิธีการเดี่ยวไว้ ครบถ้วน ผู้บรรเลงต้องมีความแม่นยำ มีฝีมือขั้นสูงจึงจะบรรเลงได้จบครบถ้วนกระบวนความ

เพลงเดี่ยวพญาโศกสี่ชั้นจึงเป็นสุดยอดเพลงเดี่ยวเพลงหนึ่ง โดยธรรมเนียมการเดี่ยวพญาโศกสำหรับระนาดเอกจะบรรเลงชั้นละ 4 เที่ยว เริ่มบรรเลงจากสี่ชั้น 4 เที่ยว สามชั้น 4 เที่ยว สองชั้น 4 เที่ยว ชั้นเดียว 4 เที่ยว ครึ่งชั้น 4 เที่ยว และเสี้ยวชั้นอีก 4 เที่ยว รวมทั้งหมดต้องบรรเลงถึง 24 เที่ยว จึงเห็นได้ว่าผู้จะบรรเลงเพลงนี้ ต้องมีกำลังหรือมีฝีมือ มิเช่นนั้นการบรรเลงต้องล่มกลางคันแน่นอน

และด้วยทรงพระปรีชาสามารถในงานดนตรี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงได้รับการขนานพระนามเป็นพระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม โดยนอกจากเพลงพญาโศกที่ทรงนำมา เรียบเรียงใหม่ ยังทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่ง และเพลงไทยเดิมไว้มากมาย อาทิ วอลทซ์ปลื้มจิต, วอลทซ์ชุมพล, สุดเสนาะ, เพลงมหาฤกษ์ และเพลงบุหลันชกมวย 3 ชั้น เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน