“ออกสัญจรไปเยี่ยมเด็กๆ ที่เคยออกรายการกันเถอะ”
พี่นก นิรมล เมธีสุวกุล กล่าวกับทีมงานทุ่งแสงตะวันในบ่ายวันหนึ่งที่อากาศขมุกขมัวในกรุงเทพมหานคร
หลังจากคำปรารภนั้นแผนการสัญจรก็เริ่มขึ้น บรรดาสคริปต์รายการทั้งรุ่นซีเนียร์และเยาวเรศรุ่นพากันระดมความคิดว่าอยากไปเยี่ยมเด็กๆ ในพื้นที่ไหนในประเทศไทยที่เคยไปบันทึกเรื่องราวเอาไว้
ทุ่งแสงตะวันพันเรื่อง จะเลือกอย่างไร

ออกไปเที่ยวนาต้นจั่นกัน
“นำเสนอได้ทั้งมิติชุมชนและปัจเจกเลย จะไปตามหาเด็กเก่าที่เราคิดถึง โตแล้วเป็นอย่างไร สบายดีไหม หรือไปเยี่ยมชุมชนที่เราเป็นห่วง เคยคลอนแคลนจะล่มสลายหรือฟื้นคืน ลุง ป้า ตา ยาย คุณพ่อ คุณแม่ของเด็กๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง ลูกหลานออกไปสู้ชีวิตหรืออยู่เคียงข้างในหมู่บ้าน เราไปนั่งคุยกับเขากัน”

พี่นก นิรมล จะพาเที่ยวนาต้นจั่น
พี่นกตั้งธงให้แล้ว ทีมงานก็แยกย้าย บางคนเช็กรายชื่อตอนต่างๆ ที่ทำข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ บางคนเปิด “สมุดปูมทุ่งแสงตะวัน” คือสมุดบันทึกวันเวลา ชื่อตอน รายชื่อเด็กและแหล่งข่าว บางคนค้นห้องสมุดเทปและฮาร์ดดิสก์ที่บรรจุไฟล์รายการที่เคยออกอากาศ พี่สคริปต์ซีเนียร์อายุงาน 20-30 ปี ที่แยกร่างไปทำรายการสารคดี หอมแผ่นดิน พันแสงรุ้ง ฯลฯ ในเครือป่าใหญ่ ถูกเชิญมาร่วมประชุมกับสคริปต์รุ่นใหม่ ได้ยินคนโทร.หาแหล่งข่าว เฟซบุ๊ก ไลน์ ถูกใช้งานติดต่อ เสียงหัวเราะ ทักทาย ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ แทบทุกวัน

สองนักบุกเบิกชุมชนกับพี่นกและทีมงาน
บนกระดานระดมสมอง ปรากฏชื่อพื้นที่จากภูมิภาคต่างๆ ตามหลักการกระจายไปทั่วทุกภาค ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีทั้งสุโขทัย ศรีสัชนาลัย สมุทรสงคราม สมุทรสาคร อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ สุรินทร์ มหาสารคาม ฯลฯ
หลังจากมองข้อมูลภาพรวม ถกเถียงแลกเปลี่ยน และอัพเดตเรื่องต่างๆ ที่ได้มาจากพื้นที่ ในที่สุดพี่นก นิรมล ก็จิ้มชื่อหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ทุกคนยิ้มและฮา “ไปนาต้นจั่นกัน พี่นกยังไม่เคยไปเลย อยากไปเยี่ยม”

บ้านอชิโฮมสเตย์
ตลอดการผลิตรายการทุ่งแสงตะวันสามสิบกว่าปี ช่วงแรก พี่นก นิรมล พิธีกรรายการทำหน้าที่ฝ่ายข้อมูล เขียนบท ดูแลเด็ก ลงเสียงบรรยาย ฯลฯ ต่อมามอบหมายงานให้สคริปต์ที่ผ่านงานจนเป็นที่วางใจออกเดินทางไปกับฝ่ายข้อมูลและช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ ช่วยกันผลิตงานออกอากาศ
วสวัณณ์ รองเดช ครีเอทีฟและมือเขียนบทรุ่นใหญ่ของทุ่งแสงตะวัน เคยบันทึกเรื่องราวผ้าหมักโคลนหมู่บ้านนาต้นจั่นเมื่อสิบกว่าปีก่อน และได้ไปถ่ายทำเรื่องราวของเด็ก ชุมชน อีกหลายครั้ง เกี่ยวกับวิถีชีวิต อาหาร การจัดการโฮมสเตย์ ฯลฯ ยืนยันว่า “นาต้นจั่นแตกต่างจากเดิมมาก พี่นกควรไปอย่างยิ่งค่ะ”

เที่ยวลึกซึ้งถึงก้นครัว
หมู่บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นหมู่บ้านเล็กๆ เปี่ยมเสน่ห์วิถีชีวิตและธรรมชาติ หนึ่งในหมู่บ้านที่จัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ซึ่งสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างน่าจดจำให้นักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนและสัมผัสวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน

เบื้องหลังงานผ้าของชุมชน
ถามพี่นก นิรมล ว่า ไปนาต้นจั่นได้ไปพบเห็นอะไรบ้าง และจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับอะไรในซีรีส์นาต้นจั่น
พี่นก นิรมล บอกว่า “มีทั้งหมด 5 ep. ค่ะ บันทึกการเดินทาง ไปเจอเด็กๆ คุยกับคนทุกวัย เราได้พบแหล่งข่าวและลูกหลาน ตั้งแต่รุ่นทวด ยาย พ่อแม่ และลูกหลาน ตื่นเต้นกันทั้งชาวบ้านและทีมงาน รู้สึกปลื้มปีติที่ได้เห็นเด็กตัวจิ๋วๆ ในรายการเมื่อสิบกว่าปีก่อน เติบใหญ่กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนชุมชน ทำให้นึกถึงสมัยที่เราเคยทำสารคดีทุ่งแสงตะวันชุด 20 ปี 25 ปี ที่บางชุมชนล่มสลาย บางแห่งฟื้นฟูป่าหัวโล้นให้กลายเป็นป่าชุมชนที่พึ่งพาหากินได้ เด็กๆ ออกจากชุมชนไปขายแรงงาน แต่บางชุมชนเยาวชนกลับมาร่วมสร้างสรรค์อนาคตของหมู่บ้าน ยังมีหลายพื้นที่ที่เราอยากจะไปเยี่ยมเยือน จะเป็นที่ไหนบ้าง จะทยอยแจ้งข่าวต่อไปค่ะ”

รุ่นที่สี่กำลังเติบโต
ทุ่งแสงตะวัน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป จะนำเสนอเป็นซีรีส์หรือสารคดีชุด โดยมีพี่นก นิรมล และทีมงานออกสัญจรไปยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเยี่ยมเยียนเด็ก แหล่งข่าว และชุมชน บันทึกเรื่องราวจากการเดินทาง เผยแพร่ในรายการทุ่งแสงตะวัน ผ่านทุกแพลตฟอร์ม ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, ยูทูบช่อง Payai TV, เฟซบุ๊ก ทุ่งแสงตะวัน และมีเรื่องราวสนุกสั้นๆ เสนอผ่าน TIKTOK ด้วย โปรดติดตาม!!
อาทร ริมทาง