หมู่บ้านที่เคยอุดมสมบูรณ์กลายเป็นอดีต ผู้คนกระจัดกระจายหางานเพื่อยังชีพตามอัตภาพ

เด็กหลายคนออกจากระบบการศึกษาและออกจากชุมชนไปหางานทำ

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

เด็กน้อยในวันวาน

เด็กคนหนึ่งเมื่อยี่สิบปีก่อน “จิหลอน” ลูกแม่น้ำมูน บ้านค้อใต้ ไม่อาจพึ่งพาแม่น้ำได้อีกต่อไป เงื่อนไขเศรษฐกิจของครอบครัว จึงตัดสินใจเรียนสายอาชีพ คือ เรียนเป็นช่างทำผม ทำงานมาหลายอาชีพ ผจญภัยบนโลกที่โลดโผน เปลี่ยนจากชื่อจิหลอนเป็นหลิน สุขบ้างทุกข์บ้าง พบพานผู้คนและเรื่องราวมากมาย ในที่สุด ตัดสินใจกลับบ้าน กลับมาช่วยครอบครัวดูแลตายายไม่สบาย ในที่สุดต้องมองหาหนทางชีวิตใหม่ในบ้านเกิด

วันนี้ จิหลอนหรือหลินลูกแม่น้ำมูน เลี้ยงวัวควายเป็นอาชีพหลัก เล่าเรื่องผ่านออนไลน์ เป็นอาชีพงานอดิเรก “หลิน” ปิยวรรณ เหล่าตุ่นแก้ว เป็นสาวสองแสนแกร่งทำปศุสัตว์เจ้าของฟาร์ม แม้สถานการณ์ราคาวัวควายเริ่มตก แต่ก็ยังจะกัดฟันสู้ต่อไปที่บ้านเกิด

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

ชวนกันดูตุ้มในแม่น้ำมูน

นี่เป็นเรื่องราวหนึ่งในหลายเรื่องที่นำเสนอผ่านรายการทุ่งแสงตะวันเวอร์ชั่นใหม่ “ทุ่งแสงตะวันสัญจร 2025” ทีมงานบอกว่าเป็นการออกเดินทางไปเยี่ยมเด็กๆ ที่เคยออกรายการทุ่งแสงตะวัน โดยเลือกเด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่อายุระหว่าง 30-45 ปี

พี่นก นิรมล เมธีสุวกุล และทีมงานทุ่งแสงตะวัน ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี นัดพบกับหลิน ซึ่งปัจจุบันอายุ 33 ปี พวกเราเจอกันในท้องทุ่งแดดเริงแรง ลมฤดูร้อนพัดอู้ผ่านกิ่งไม้แห้งและถนนลูกรังสีแดง ถัดไปเป็นคอกวัวควายขนาดใหญ่โดดเด่นอยู่กลางนา ท่ามกลางความแห้งแล้ง มีผืนหญ้าสีเขียวกว้างใหญ่เชื่อมกันไปสามสี่แปลง

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

ปลูกเอง ตัดเอง ครบวงจร

หลินมาด้วยรถมอเตอร์ไซค์ แต่งกายรัดกุม รองเท้าบู๊ต คลุมหัวด้วยผ้าและแว่นกันแดดขนาดใหญ่

การทำปศุสัตว์เลี้ยงวัวควายสมัยนี้ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน สมัยนี้คนเลี้ยงวัวควาย ต้องปลูกหญ้าหลายชนิด ตุนฟางสูงราวกับภูเขา มีที่ดิน มีแรงงาน มีความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพสัตว์และการผสมพันธุ์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสม

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

วันนี้มีคนช่วยงาน

พี่นก เล่าให้ทีมงานฟังว่า “สมัยก่อน การเลี้ยงวัวควายในต่างจังหวัดเป็นเรื่องของชุมชน ในหมู่บ้านมีละเมาะไม้ ริมแม่น้ำมีที่สาธารณะโล่งกว้าง ช่วงน้ำขึ้นน้ำท่วม ช่วงน้ำลงหญ้าระบัดใบวัวควายมีอาหาร หลังฤดูเก็บเกี่ยวมีกองฟางให้เคี้ยวเอื้อง นอนเล่น เย็นๆ ต้อนวัวควายเข้าคอก สุมไฟไล่ยุง ภาพที่เราเห็นเวลาออกชนบทคือการก่อกองไฟ ควันลอยหายไปในอากาศยามเย็น การเลี้ยงวัวควายสมัยก่อนเอาไว้ใช้งาน เลี้ยงกันจนรู้ใจ ช่วยไถนา เทียมเกวียนต่างๆ สมัยนี้เน้นเลี้ยงขยายพันธุ์เอานมเอาเนื้อ วัตถุประสงค์แตกต่าง วิธีการก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว การทำงานวันนี้ได้อัพเดตสถานการณ์ใหม่ๆ ด้วย”

สถานการณ์ล่าสุด วันที่คุยกับหลินคือ…. “ราคาตกค่ะพี่โน้กกกกก เราจะบอกใครได้มั่งว่าจะแก้ปัญหาอย่างใด ลำบากแท้”

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

หลิน วัวงาม

หลินยังคงมีเงาของจิหลอนอยู่มาก นั่นคือช่างพูดช่างคุย มีอารมณ์ขัน ระหว่างตัดหญ้าเตรียมอาหารให้วัวควาย หลินบอกว่าพี่นกกับทีมงานช่วยกันขนหญ้าด้วย “สนุกนะพี่นก ได้เหงื่อ ได้งาน ได้ช่วยน้อง”

ตัดภาพมาอีกที พี่ๆ น้องๆ ทีมงาน ขนหญ้าขึ้นรถเข็น “ไม่ได้อยากช่วยน้อง แต่อยากให้งานเสร็จไวๆ” พี่นกกล่าว

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

ภูเขากองฟาง

หญ้ามีหลายสายพันธุ์ การปลูกการดูแลต้องมีความรู้ “เราปลูกแบบใช้เครื่องตัด ปลูกทั้งหมดก็จะประมาณ 25 ไร่ หนูดูแล ใส่ปุ๋ย เปิดน้ำ ตัดหญ้า ดูแลวัวควาย ให้อาหารทุกอย่าง เอเวอรี่ติง”

มีลุงป้าสนับสนุน ช่วยลงทุนเลี้ยงวัว ตอนเช้าตัดหญ้า วัวควายในคอกใหญ่กินหญ้าสด และบรรทุกหญ้าไปบริการฝูงวัวควายในนา การให้ออกจากคอกมาใช้ชีวิตในท้องนาช่วยให้ควายลดความเครียด ใช้ชีวิตกึ่งอิสระ ที่สำคัญคือเป็นการเอาปุ๋ยใส่นาไปในตัว ทำให้ข้าวงาม เยอะ รวงใหญ่

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

สาวแกร่งทำปศุสัตว์เจ้าของฟาร์ม

ตอนบ่ายให้กินหญ้าแห้ง ฟาง เตรียมงานผสมพันธุ์วัวควาย ดูแลตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยง มีความรู้ก็แบ่งปันคนอื่น ทำคลิปทางยูทูบ

“ผ่านมาหมดแล้ว ช่างทำผม หางเครื่อง สาวโรงงานทำของเล่นเด็ก ทำอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ ขายกับข้าว ขายก๋วยเตี๋ยว นวดแผนโบราณ อยู่ร้านนวดจนได้ปิ๊งกับคนต่างชาติ แต่ไม่ว่าจะทำงานอะไร อยู่ที่ไหน จิตสำนึกก็คิดถึงบ้าน มีโอกาสไม่ว่าอยู่ไกลแค่ไหนก็จะกลับมาบ้าน ไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ จนตายายป่วย กลับมาเช็ดขี้เยี่ยว อาบน้ำ ป้อนข้าว ในที่สุดก็อยากกลับมาอยู่บ้าน อย่างน้อยเราได้อยู่กับพ่อกับแม่ ครอบครัว ทุกวันนี้เมื่อไรมีเวทีหมอลำ คนมักม่วนอย่างหนูก็แต่งตัวเฟี้ยวๆ ไปเต้นหน้าฮ้านม่วนๆ ไม่สวยไม่ออกจากบ้าน”

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

เตรียมหญ้าสดไปแจกจ่าย

“กลับมาทำงานเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ถึงไม่ได้อะไรมาก ขายก็ไม่ได้ราคา ช่วงกลับมา วัวควายตัวละแสน ตัวละห้าหมื่น ตอนนี้ตกตัวละหมื่น ปัญหาสารพัด เจ็บป่วย แข็งแรงไหม ท้องไหม มีลูกหรือเปล่า คนเราไม่มีอะไรราบรื่น ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบ ชีวิตเจอปัญหาหมดทุกอย่าง สู้หมดทุกอย่าง วัวเป็นโรคลำปีตาย ออกลูกตาย ก่อนท้อง ถ่ายพยาธิ ฉีดยาบำรุง ถ้าคลอดแล้วรอด ลูกมันกินนมได้บ่ กินไม่ได้ ใส่คอกมัดขา จับเอานมป้อน มันเตะ มันถีบ เราก็อดทนเอา รอบนี้ผสมหลอด รอบหน้าพ่อพันธุ์ ตัวผู้ขาย ตัวเมียเป็นแม่พันธุ์ พัฒนาพันธุ์วัวควายของเราไป อยากให้มันเป็นควายเงินล้าน”

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

เจอกันอีกครั้ง

หลิน จากลูกแม่น้ำมูน ที่พาทีมงานทุ่งแสงตะวันดูตุ้มยักษ์และงานพิธีกรรมบวงสรวงเจ้าลวงเจ้าที่ผู้ดูแลปกปักษ์แม่น้ำเมื่อยี่สิบปีก่อน กลายเป็นคนทำปศุสัตว์ด้วยความจำเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านพรานปลาที่ไม่มีปลาจะให้จับ ตลิ่งพัง น้ำลึก ริมแม่น้ำมูนมีซากเรือเก่าๆ วางอยู่ริมตลิ่งที่เป็นป่าไมยราบยักษ์ ใบไม้กิ่งไม้แห้ง เดินไปทางไหนมีแต่เสียงกรอบๆ แกรบๆ

“ทุกอาชีพมันก็มีความยากความง่าย เนอะ ต้องสู้ ท้อแต่ก็ไม่เคยถอย” แม่น้ำมูนพึ่งพาไม่ได้เพราะการสร้างเขื่อน หันมาทำปศุสัตว์ ก็ได้แต่หวังว่าราคาวัวควายจะดีขึ้น

สดจากเยาวชน - เมื่อลูกแม่น้ำมูน สู่‘หลิน วัวงาม’

อัพเดตชีวิต

เมื่ออดีตผ่านไปไม่มีวันหวนคืน… หมู่บ้านพรานปลากลายเป็นหมู่บ้านที่ผู้คนกระจัดกระจาย ยังชีพตามอัพภาพ เด็กหลายคนออกจากชุมชนไปหางานทำ หลินทำงานมาหลายอาชีพ ผจญภัยบนโลกที่โลดโผน สู่สาวแกร่งเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ ปักหลักที่บ้านเกิดกับทุ่งแสงตะวันสัญจร ชุดอุบลราชธานี EP.3 ตอน หลินวัวงาม เสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ 05.05 น. ทางช่อง 3 HD และ 07.30 น. ทางยูทูบ PayaiTV และเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน

อาทร ริมทาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน