งานบุญผะเหวดประเพณีแห่งร้อยเอ็ด

งานบุญผะเหวดประเพณีแห่งร้อยเอ็ด – ย้อนชมงาน “มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด” ประจำปี 2563 ครั้งที่ 30 จัดไปตั้งแต่วันที่ 6-8 มีนาคม 2563 บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด และเกาะกลางบึงพลาญชัย ก่อนสถานการณ์โควิดปิดหลายเมืองจะชวนระทึกอยู่ในขณะนี้

ทางจังหวัดเตรียมการป้องกันตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว ผู้มาร่วมงานและนักท่องเที่ยวทุกคนต้องผ่านการคัดกรองโรคจากแพทย์พยาบาล และรับแจกหน้ากากอนามัยฟรี จึงจะเข้างานได้ งานจึงผ่านพ้นไปด้วยดี สืบสานประเพณีสำคัญของชาวร้อยเอ็ด

งานบุญผะเหวดประเพณีแห่งร้อยเอ็ด

เปิดงานพร้อมหน้า

งานบุญผะเหวดประเพณีแห่งร้อยเอ็ด

ขบวนเปิดงาน

 

ประเพณีบุญผะเหวด ถือเป็นงานบุญเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาวจังหวัดร้อยเอ็ดมานานกว่า 100 ปี ระบุในคำขวัญของจังหวัด เรื่องงานบุญเดือน 4 ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวอีสาน

กิจกรรมสำคัญ คือ การแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง “พระเวสสันดรชาดก” ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดีในนาม “เทศน์มหาชาติ” ภาษาอีสานเรียกว่า “เทศน์ผะเหวด”

ปี 2563 นี้ จังหวัดร้อยเอ็ดทุ่มงบยิ่งใหญ่เพื่อจัดแสดงแสงสีเสียง สื่อผสม 4D เล่าตำนานพระเวสสันดร “มหาชาดก ชาติที่ 10 มหาชาติ พระสัพพัญญู” โดยย่อใจความทั้ง 13 กัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 1,000 กว่าพระคาถา มาไว้ในรูปแบบการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสมสุดยิ่งใหญ่ตระการตาระยะเวลา 45 นาที และใช้ผู้แสดงกว่า 100 คน เปิดการแสดงสองรอบ

งานบุญผะเหวดประเพณีแห่งร้อยเอ็ด

คึกคักหลาย

งานบุญผะเหวดประเพณีแห่งร้อยเอ็ด

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดและคณะ พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดร้อยเอ็ด รองกงสุลใหญ่ สปป.ลาว จังหวัดขอนแก่น กงสุลประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต พร้อม นายบรรจงโฆษิตจีรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด, นายมังกร ยนต์ตระกูล นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และ นายอนุชิต ชนะวัฒน์ปัญญา วัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมงานและต้อนรับ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ที่มาเป็นประธานเปิดงาน

ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตำนาน ความเชื่อ ทำให้พุทธศาสนิกชนหลั่งไหล มูลเหตุแห่งการทำบุญผะเหวด มีกล่าวไว้ในหนังสือมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยให้ไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบและสนทนากับพระศรี อาริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งจะได้จุติกาลลงมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ทราบความประสงค์ของมนุษย์จากพระมาลัยแล้วจึงสั่งความ กับพระมาลัยว่า

“หากใครต้องการจะพบและเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ ให้ทำแต่ ความดี อย่าฆ่าพ่อตีแม่ สมณะชี พราหมณ์ ครูอาจารย์ อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า อย่ายุยงสงฆ์ให้แตกกัน และต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียว ท่านทั้งหลายจะได้เกิดร่วมและพบพระองค์”

งานบุญผะเหวดประเพณีแห่งร้อยเอ็ด

งานบุญผะเหวดประเพณีแห่งร้อยเอ็ด

การแสดงแสงสีเสียงสื่อผสม ตำนานพระเวสสันดร

 

ด้วยเหตุนี้เอง ชาวร้อยเอ็ดจึงยกเอาฮีต เดือนสี่ “บุญผะเหวด” ให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด ภายใต้ชื่องาน “มหาทานบารมี ประเพณีบุญ ผะเหวด” จัดตั้งแต่ปี 2534 สมัยผู้ว่าฯ สุพร สุภสร เป็นต้นมา ถือได้ว่าเป็นงานบุญมหาชาติที่จัดได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาและเผยแผ่การบำเพ็ญทานบารมีขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนุรักษ์ส่งเสริมและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการสร้าง รายได้ให้แก่ประชาชน เสริมสร้างความรักและความสามัคคีของประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด

การจัดงานทุกครั้งมีส่วนราชการ ร้านค้า หน่วยงาน พร้อมใจกันทำอาหารมาเสิร์ฟ ให้อิ่มอร่อยฟรีทั้งเมือง โดยเฉพาะข้าวปุ้น เมนูพื้นบ้านยอดนิยมในงานบุญ

ขณะที่ไฮไลต์เป็นการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสม ตำนานพระเวสสันดร มหาชาดก ชาติที่ 10 มหาชาติ พระสัพพัญญู” บริเวณลานสาเกต และเกาะกลางบึงพลาญชัย

บื้องหลังรายละเอียดงานแสดงละครเวที ประกอบแสงสีเสียงสื่อ ผสม 4 มิติ ใช้ลูกหลานของชาวจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ศุภกฤต ฉัตรจารุกุล ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ จัดทำซีจีฉากประกอบการแสดง อำนวยการสร้างบทและกำกับการแสดงโดย ธีรวัฒน์ เจียงคำ ศิลปินอิสระ

ร่วมกับ พชญ อัครพราหมณ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรม ศาสตร์ ภาควิชาการแสดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยนักแสดงหลักจากภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยขอนแก่นและนักแสดงร่วมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาควิชาศิลปะการแสดง

ความพิเศษของการแสดง คือต้องมีบทพูดเป็นภาษาอีสานโบราณ หรือ “ผญา” เป็นคำเก่าแก่ เนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากต้นฉบับของ อาจารย์มั่น จงเรียน ด้วยสัมผัสและความหมายของภาษาเก่าแก่ และคนอีสานปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว จึงยากมากที่จะทำให้นักแสดงเข้าใจตัวละคร สื่อสารกับผู้ชม-ผู้ฟัง และยังคงคุณค่าทางภาษา/วรรณกรรมที่งดงามนี้ไว้

งานบุญผะเหวดประเพณีแห่งร้อยเอ็ด

ปีนี้มีตรวจอุณหภูมิก่อนเข้าร่วมงาน

 

ผู้จัดจึงต้องแกะเนื้อหาชาดกจากใบลาน ที่เล่าเรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่างๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงพระประสงค์ มีหลายร้อยเรื่องทั้งว่าทรงเคยเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง

ที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ 10 ชาติสุดท้ายที่เรียกว่าทศชาติชาดก และชาติสุดท้ายที่สุดที่ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร จึงเรียกเรื่อง พระเวสสันดรนี้ว่า “มหาเวสสันดรชาดก”

นายบรรจง โฆษิตจีรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า งานแสดงนี้นำเรื่องราวในชาติสุดท้าย 13 กัณฑ์ 1,000 พระคาถา มาไว้ในรูปแบบการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสมรายละเอียดแต่ละกัณฑ์ อาทิ กัณฑ์ทศพร มี 19 พระคาถา กัณฑ์หิมพานต์ มี 134 พระคาถา กัณฑ์ทานกัณฑ์ มี 209 พระคาถา กัณฑ์วนประเวศน์ มี 57 พระคาถา

กัณฑ์ชูชก มี 79 พระคาถา กัณฑ์จุลพน มี 35 พระคาถา กัณฑ์มหาพนมี 80 พระคาถา กัณฑ์กุมาร มี 101 พระคาถา กัณฑ์มัทรี มี 90 พระคาถา กัณฑ์สักกบรรพ มี 43 พระคาถา กัณฑ์มหาราช มี 69 พระคาถา กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี 36 พระคาถา กัณฑ์นครกัณฑ์ มี 48 พระคาถา

สำหรับคนที่พลาดไปแล้ว ชมภาพสวยๆ ไปก่อนพบกันใหม่ในงานบุญครั้งหน้าเชื่อว่าถึงเวลานั้นโรคภัยโควิด-19 จะไม่ระบาดอีกแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน