ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : คอลัมน์ หลาก&หลาย

 

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย – ลูกช้างป่า เพศผู้ อายุ 3-5 เดือน พลัดหลงโขลงบริเวณพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน กำลังเข้าสู่ขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมส่งมันคืนสู่ป่า หลังจากแผลของมันได้รับการรักษาจนหายดี

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

หล่อป่ะล่ะ

ช้างป่าตัวนี้ไม่มีชื่อออกสื่อ แม้มีเด็กๆ บางคนเรียกมันว่าก้านกล้วย มันพลัดหลงจากโขลงช้างป่าปลายเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งช่วงเย็นวันที่ 27 เม.ย. แต่ยังตามไม่พบ จนถึงเช้าวันที่ 28 เม.ย. จึงช่วยกันต้อนเข้าคอกวัวแล้วจับ ขึ้นรถพาไปพักที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

พบว่ามันมีบาดแผลที่ข้อเท้าซ้ายเป็นแผลฉกรรจ์ จึงรีบรักษาและหานมมาป้อนให้ช้างกิน ระหว่างการดูแลชั่วคราวนี้ ดร.อลงกต วรกี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ออกสื่อขอรับบริจาคนมเอ็นฟาแลคมาชงให้มันกิน เจ้าลูกช้างต้องกินเฉลี่ยแล้วประมาณวันละ 5 กล่อง นอกจากนี้ ยังขอรับบริจาคน้ำเกลือ นอร์มอล ซาไลน์ สำหรับการล้างแผลด้วย

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

ตอนช่วยเหลือลูกช้างพลัดหลงในป่า

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

ขณะเดินหลงอยู่ในป่า

 

ต่อมาเจ้าหน้าที่อุทยานคอยตรวจดูอาการของลูกช้างพลัดหลง ที่คอกอนุบาลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

น.ส.อังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลสุขภาพของลูกช้างป่าตัวนี้ ทุกเช้า-เย็นเจ้าหน้าที่จะใช้น้ำเกลือล้างแผล และให้ยาสม่ำเสมอ ทำให้อาการแผลที่ข้อเท้าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเริ่มสมานตัว

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

ในส่วนของอาหาร จากเดิมให้แต่นมก็ปรับมาให้อาหารเสริมเป็นข้าวต้มบดละเอียดผสมนม เพิ่มกล้วยสุกและวิตามินเสริมแคลเซียมด้วย ส่วนนมให้ประมาณ 19-25 ลิตรต่อวัน เพราะช่วงวัยของลูกช้างจำเป็นที่ต้องเสริมวิตามินในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงมากขึ้น ก่อนเอ่ยชมว่าเจ้าลูกช้างตัวนี้ฉลาดและซนมาก

ระหว่างที่อาการของลูกช้างดีวันดีคืน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นายธนิตย์ หนูยิ้ม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมผลการดูแล และเตรียมดำเนินการปล่อยลูกช้างห้วยขาแข้งพลัดหลงคืนป่า ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

กินนมหน่อย

การประชุมนี้มีผู้เข้าร่วมราว 20 คน ระดับหัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ หัวหน้าศูนย์ศึกษาพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ 1 (ภาคกลาง) ผู้แทนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นายสัตวแพทย์ปิยะ เสรีรักษ์ พร้อมทีมสัตวแพทย์ สบอ 12 ทีมงานคชสารเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นต้น

นายสัตวแพทย์ปิยะ เสรีรัตน์ รายงานถึงสุขภาพอนามัยและบาดแผลขาหน้าด้านซ้ายของลูกช้างว่า ขณะนี้ลูกช้างมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ และบาดแผลที่ขาหน้าด้านซ้ายไม่มีหนอง ไม่ติดเชื้อ มีเฉพาะบริเวณผิวด้านนอกเป็นรอยเล็กๆ เท่านั้น จึงมีความเห็นว่า สุขภาพอนามัยของลูกช้างอยู่ในสภาพพร้อมปล่อยคืนป่าได้แล้ว ดังนั้น จะทำหนังสือบันทึกความเห็นเกี่ยวกับสุขภาพลูกช้างเสนอผู้บังคับบัญชาทราบเป็นทางการต่อไป

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

ทีมรักษาดูแล

 

ที่ประชุมยังหารือถึงจุดจะปล่อยลูกช้างคืนป่า นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และนายธานี วงศ์นาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งร่วมกันรายงานว่า จากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 จำนวน 38 จุด พบฝูงช้างป่ากระจายออกหากินอยู่ในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งทุกวัน บางวันมีมากกว่า 19 ตัว คาดว่าจะเป็นฝูงช้างฝูงเดียวกับที่ลูกช้างพลัดหลง

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

ประชุมหารือแผนส่งช้างคืนป่า

 

จากการนำมูลลูกช้างพลัดหลงมากองไว้ในป่า ณ จุดพบฝูงช้างป่า ปรากฏว่าฝูงช้างทั้ง 18 ตัวรวมตัวเดินวนรอบอย่างตั้งใจ โดยจุดที่พบฝูงช้างป่าบ่อยและจำนวนมากคือ พื้นที่แหล่งน้ำใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า และพื้นที่รอบหอดูสัตว์ป่าต้นผึ้ง จึงเสนอเลือก 2 จุดดังกล่าวเป็นจุดเตรียมคอกปล่อยชั่วคราว

ขั้นตอนสำคัญอีกด้านคือ ปรับพฤติกรรมของลูกช้างก่อนปล่อย ซึ่งนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ย้ำว่า การปล่อยลูกช้างคืนป่าต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ และทำตามแนวทางการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ลูกช้างและเจ้าหน้าที่ต้องปลอดภัย จึงเห็นควรให้ปรับพฤติกรรมลูกช้างให้มีความพร้อม เป็นที่ยอมรับของฝูงช้างป่าก่อน

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

แผลที่ขาซ้ายจากเหวอะค่อยๆ หายดี

ตามวัตถุประสงค์นี้จึงให้สร้างคอกชั่วคราว ณ จุดที่จะปล่อย ขนาด 9 x 9 เมตร ด้วยไม้ไผ่ ให้กลมกลืนธรรมชาติ จำนวน 2 คอกต่อจุด แล้วนำมูลช้างฝูงในป่ามาวางกองไว้ในคอก จากนั้นเฝ้าดูพฤติกรรม อย่างน้อย 3 วัน หากฝูงช้างป่าไม่ทำลายคอกให้นำมูลของลูกช้างไปใส่ในคอก เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของฝูงช้างอีกอย่างน้อย 3 วัน หากช้างมีพฤติกรรมรับแล้วจึงจะเคลื่อนย้ายลูกช้างจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งไปยังคอกที่เตรียมไว้ แล้วเฝ้าดูพฤติกรรมการรับของฝูงช้างป่า และเฝ้าระวังความปลอดภัยให้ลูกช้าง จนกว่าฝูงแม่ช้างจะมารับไป

แผนการปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มไปตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหน่วยซับฟ้าผ่าและผาผึ้งช่วยกันสร้างขึ้นมาสำหรับเฝ้าดูพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 6 วัน

สัปดาห์นี้จึงต้องลุ้นว่าจะได้เดินหน้าเคลื่อนย้ายลูกช้างไปยังจุดปล่อยหรือไม่

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

สร้างคอกกั้นชั่วคราวสำหรับดูพฤติกรรมช้าง

 

ส่วนสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำและศูนย์ศึกษาพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ 1 (ภาคกลาง) จะเข้าติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ แล้วดำเนินการเฝ้าติดตาม และเตรียมการอื่นๆ จนปล่อยลูกช้างคืนป่าหาแม่ได้อย่างปลอดภัยต่อไป

ก่อนหน้ากรณีลูกช้างป่าหลงโขลงที่ห้วยขาแข้ง มีกรณีลูกช้างเพศเมียที่คนตั้งชื่อให้ว่า “ชบาแก้ว” เป็นขวัญใจของคนจำนวนมากที่ต่างลุ้นว่าลูกช้างตัวนี้\ะกลับคืนสู่โขลงที่มันจากมาได้หรือไม่

ชบาแก้วถูกพบในสภาพตกบ่อเกรอะในสวนยางพาราของชาวบ้านโนนไพศาล ต.โคกกว้าง อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2562

ตอนนั้นมันอายุเพียง 2 เดือน บาดเจ็บที่หลังและสะดือ เจ้าหน้าที่ย้ายมาอยู่ในคอกชั่วคราวที่หน่วยพิทักษ์ป่าโคกกว้าง ก่อนส่งไปอยู่โครงการคชอาณาจักรสุรินทร์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ป่าภูดิน ต.กะโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เพื่อรักษาตัวและให้ลูกช้างตัวนี้ได้กินนมจากแม่ช้างเลี้ยง

เดือนกันยายนหลังจากชบาแก้วถูกส่งตัวกลับมาบึงกาฬเพื่อเริ่มขั้นตอนส่งลูกช้างคืนป่า ตอนแรกเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน เมื่อโขลงช้างป่าเข้ามารับตัวชบาแก้วไป แต่วันที่ 20 ก.ย.เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนกลับพบชบาแก้วยืนอยู่โดยลำพัง ห่างจากจุดปล่อยตัวประมาณ 1 กิโลเมตร จึงนำมาดูแลและเฝ้ารอดูอาการต่อที่หน่วยถ้ำพระ ก่อนส่งกลับไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ

ปัจจุบัน ชบาแก้ว มีแม่ช้างชื่อ “พังดอกรัก” ดูแลเลี้ยงดู โดยมีภาพที่น่ารักที่ผู้คนติดตามกดไลก์กดแชร์ที่เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ตลอด

ลุ้นส่งลูกช้างพลัดหลง คืนสู่โขลง-ป่าห้วยขาแข้ง : ข่าวสด หลาก&หลาย

ชบาแก้ว ช้างหลงอีกตัว

ดร.พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชียจากคณะกรรมการ ว่าด้วยการอยู่รอดของสปีชีส์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อ การอนุรักษ์ธรรมชาติสำนักงานภูมิภาคเอเชีย (IUCN SSC) ให้สัมภาษณ์สื่อบีบีซีไทย ว่า การที่ชบาแก้วเข้าโขลงไม่ได้อาจเป็นเพราะแม่โขลงไม่รับ หรือตัวชบาแก้วเองก็อยู่แบบช้างเลี้ยงมานาน ประกอบร่างกายยังไม่แข็งแรงจึงทำให้อาจจะตามโขลงไม่ทัน

“การพลัดหลงจากโขลงของลูกช้างป่าตัวนี้มีอะไรมากไปกว่าแค่ความน่ารัก น่าสงสาร แต่ยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของช้างป่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชบาแก้วต้องพลัดหลงฝูงเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ (Landscape) ของพื้นที่ป่า เช่น การขยายตัวของพื้นที่การเกษตรและการก่อสร้างที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางของช้างป่า” ดร.พิเชฐกล่าว

การแก้ไขปัญหานี้ให้ยั่งยืนจึงเป็นภารกิจที่ยากยิ่งกว่าการส่งลูกช้างกลับโขลงสำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ผืนป่า และต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐและประชาชนอย่างจริงจัง

ภาพโดย : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน